เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การวิจัยด้านอวกาศแห่งอินเดียหรือ ISRO ทำการทดสอบยานอวกาศแบบนำไปใช้ได้อีกครั้ง และได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
องค์การวิจัยทางอวกาศแห่งอินเดียมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยียานสำรวจอวกาศแบบใหม่นี้มานานหลายปีแล้ว เพื่อเอื้อให้อินเดียสำรวจอวกาศได้โดยจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง
แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะพัฒนาสำเร็จ แต่การทดสอบยานสำรวจขนาดจำลองที่นำกลับไปใช้ได้ใหม่ครั้งล่าสุด ถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่ช่วยผลักดันอินเดียให้กลายเป็นชาติหนึ่งที่จะนำหน้าในการแข่งขันด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสำรวจอวกาศ
ยานอวกาศจำลองที่นำกลับไปใช้ได้ใหม่นี้ของอินเดีย เป็นยานเเบบไร้นักบินอวกาศ ยาวหกเมตรครึ่ง หนักหนึ่งพันเจ็ดร้อยห้าสิบกิโลกรัม
รัสเซีย ญี่ปุ่น องค์การสำรวจอวกาศแห่งยุโรป ตลอดจนบริษัทเอกชนผู้พัฒนายานอวกาศ อาทิ บริษัท SpaceX ต่างกำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยียานอวกาศที่ใช้ใหม่ได้อีกนี้อย่างเเข็งขัน แต่องค์การสำรวจอวกาศแห่งสหรัฐฯ หรือนาซ่าได้ล้มเลิกโครงการนี้ไปแล้วเมื่อปีค.ศ. 2011
ยานอวกาศแบบใหม่นี้จะสามารถนำกลับไปใช้ได้ใหม่อีก หลังจากเดินทางกลับสู่โลกเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงมาได้อย่างมหาศาล เพราะยานอวกาศเป็นส่วนที่เเพงที่สุดในงานสำรวจอวกาศในปัจจุบัน
ทีมนักวิจัยด้านอวกาศแห่งอินเดียชี้ว่า ยานอวกาศเเบบใหม่นี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสำรวจอวกาศลงมาให้เหลือเเค่หนึ่งในสิบของค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน
นาย Deviprasad Karnik โฆษกแห่งองค์การวิจัยด้านอวกาศเเห่งอินเดียชี้ว่า ยานอวกาศที่นำกลับไปใช้ใหม่ได้อีก จะช่วยให้อินเดียสำรวจอวกาศได้ในงบประมาณที่น้อยลง
เเม้ว่าอินเดียจะเข้าสู่วงการสำรวจอวกาศล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ แต่อินเดียก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีสำรวจอวกาศใหม่ๆ ที่สำคัญหลายอย่างด้วยกัน จนเป็นที่ยอมรับว่าอินเดียมีบทบาทในการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสำรวจอวกาศลงมา
อินเดียได้รับความสนใจจากทั่วโลก ตอนที่ดาวเทียมสำรวจของอินเดียเดินทางเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารได้สำเร็จในปีค.ศ. 2014 เเม้ว่าจะเป็นความพยายามครั้งแรกของอินเดียในการเดินทางสำรวจดาวเคราะห์ดวงนี้
นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นชาติเอเชียชาติแรกที่มีโครงการเดินทางสำรวจอวกาศระหว่างดาวเคราะห์ และใช้งบประมาณต่ำที่ 73 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นค่าใช้จ่ายเพียงเสี้ยวหนึ่งของที่สหรัฐฯ ใช้ในโครงการสำรวจดาวอังคาร U.S. Maven Mars Mission
นาย Rajeswari Pillai Rajagopalan หัวหน้าฝ่ายนโยบายด้านนิวเคลียร์และอวกาศ (Nuclear and Space Policy) ที่มูลนิธิ Observer Research Foundation ในกรุงนิวเดลลี กล่าวว่าความสำเร็จในโครงการสำรวจอวกาศ สร้างความภาคภูมิใจและสถานภาพแก่อินเดีย และเทคโนโลยีสำรวจอวกาศใหม่ๆ ที่อินเดียพัฒนาขึ้นจะยิ่งช่วยให้อินเดียเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในวงการนี้
หลังความสำเร็จในการส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร อินเดียกำลังเร่งเดินหน้าเตรียมส่งยานอวกาศไปสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์รอบที่สองในปีหน้า และยังตั้งเป้าหมายที่จะส่งนักอวกาศออกไปนอกโลกอีกด้วยในอนาคตอันใกล้
(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)