แคปซูลบรรจุยาที่กำลังอยู่ระหว่างการทดลองนี้ สามารถปล่อยตัวยากี่ชนิดก็ได้ในปริมาณที่กำหนดเอาไว้ระหว่างช่วงเวลานานสองสัปดาห์ แต่ทีมนักวิจัยได้ทดสอบแคปซูลนี้กับยา ivermectin ที่ใช้ในการบำบัดมาลาเรีย
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเอ็มไอทีและโรงพยาบาลบริกแกมแอนด์วีเมน ในรัฐเเมสสาชูเซ็ทส์ เลือกทดลองแคปซูลนี้กับยา ivermectin เนื่องจากสามารถใช้วิธีสังเกตุการณ์ที่คิดค้นขึ้น ตอนที่มีการนำยาตัวนี้ไปใช้บำบัดโรค river blindness ในแอฟริกา ซึ่งมีการระบาดของมาลาเรียด้วย
Giovanni Traverso ผู้ช่วยวิจัยที่โรงพยาบาลบริกแกมแอนด์วีเมน กล่าวว่า จากผลการสังเกตุการณ์ ทีมนักวิจัยพบว่าเชื้อมาลาเรียในร่างกายได้ลดลงชั่วคราว ซึ่งทำให้ทีมนักวิจัยต้องการทดลองต่อไปว่า หากเพิ่มระยะเวลาที่ผู้ติดเชื้อมาลาเรียได้รับตัวยา ivermectin จากแคปซูลให้นานขึ้นกว่าเดิม จะมีผลช่วยลดประชากรยุงในพื้นที่ระบาดของโรคหรือไม่
ยา ivermectin สามารถฆ่ายุงที่เป็นพาหะของมาลาเรียได้ และผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าราว 90 เปอร์เซ็นต์ของการติดเชื้อมาลาเรีย เกิดขึ้นในชาติแอฟริกาในตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า
นักวิจัยอธิบายว่า แคปซูลบรรจุยานี้ทำจากพลาสติกและจะเปลี่ยนรูปทรงเป็นดาวเมื่อเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหาร และจะค่อยๆ ปล่อยตัวยาออกมาสู่ร่างกาย
เมื่อเวลาผ่านไปสองสัปดาห์ เเคปซูลโพลีเมอร์นี้จะหลอมละลายและถูกขับออกจากร่างกายโดยไม่เป็นอันตรายผ่านทางระบบย่อยอาหาร
รายงานเกี่ยวกับการศึกษาและพัฒนาเเคปซูลยาทดลองนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร Science Translational Medicine ไปเมื่อเร็วๆนี้
ในกรณีของการบำบัดเชื้อมาลาเรีย ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถใช้เเคปซูลนี้กับยา artemisinin ซึ่งจะช่วยลดจำนวนคนติดเชื้อมาลาเรียลง
องค์การอนามัยโลกรายงานว่าราว 50 เปอร์เซ็นต์ของคนในชาติตะวันตก และ 30 เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศกำลังพัฒนา รับประทานยาเป็นประจำทุกวันตามคำสั่งเเพทย์
จากการคำนวณทางระบบคอมพิวเตอร์ คาดว่าแคปซูลยาชนิดพิเศษนี้จะช่วยให้การรับประทานยาตามคำสั่งเเพทย์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์
Andrew Bellinger นักวิจัยที่สถาบันเอ็มไอทีกล่าวว่า เขาเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เขากล่าวว่าผลดีของแคปซูลยาเเบบใหม่นี้คือไม่ต้องคอยเตือนให้ผู้ป่วยกินยาทุกวันตามคำสั่งเเพทย์ ผู้ป่วยเพียงเเค่จำให้ได้ว่าต้องรับประทานยาสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น
ทีมนักวิจัยชี้ว่าเเคปซูลที่ค่อยๆ ปล่อยตัวยาเข้าสู่ร่างกายอย่างช้าๆนี้ มีศักยภาพสูงที่จะนำไปใช้กับยาบำบัดโรคชนิดต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคจิตเภท เบาหวาน โรคหลอดเลือดและโรคไต
ทีมนักวิจัยประสบความสำเร็จในการทดลองกับหมูและสุนัขทดลอง ทีมนักวิจัยกำลังอยู่ระหว่างการวางแผนการทดลองในคนที่คาดว่าจะเริ่มต้นได้ในราวปีหน้า
(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว)