ยูเครนและรัสเซียกล่าวหากันและกันว่าเป็นผู้ระเบิดเขื่อนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งใกล้เมืองเคอร์ซอน ทางภาคใต้ของยูเครน ในวันอังคาร
เขื่อนคาคอฟกา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่กองทัพรัสเซียครอบครองอยู่ เกิดความเสียหายอย่างหนัก ภาพจากดาวเทียมแสดงให้เห็นมวลน้ำทะลักเข้ามาภายในเขื่อน ทางการประกาศเตือนประชาชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำดนิโปรให้อพยพออกจากพื้นที่ทันที
ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี เรียกประชุมฉุกเฉินสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติเพื่อหารือหนทางรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ผู้นำยูเครนทวีตข้อความว่า "ความเสียหายต่อเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ คาคอฟกา ยิ่งยืนยันต่อทั่วโลกว่าพวกเขา (รัสเซีย) ต้องถูกขับออกไปจากทุกซอกมุมในดินแดนยูเครน"
และว่า "ไม่ควรมีส่วนที่เหลืออยู่สำหรับรัสเซียแม้เพียงเมตรเดียว เพราะพวกเขาใช้ทุกตารางเมตรในการก่อความน่าสะพรึงกลัว มีเพียงชัยชนะของยูเครนเท่านั้นที่จะช่วยนำความมั่นคงกลับคืนมา และชัยชนะนั้นจะต้องมาถึง ผู้ก่อการร้ายจะไม่สามารถหยุดยั้งยูเครนได้ไม่ว่าจะใช้น้ำ ขีปนาวุธ หรืออะไรก็ตาม"
แอนเดรีย เยอร์มัก หัวหน้าฝ่ายบริหารของประธานาธิบดียูเครน ระบุทางสื่อเทเลแกรมว่า การที่รัสเซียทำลายเขื่อนแห่งนี้ถือเป็น "การล้างผลาญสิ่งแวดล้อม" และเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม
แต่ทางรัสเซียยืนยันว่า กองทัพยูเครนเป็นฝ่ายโจมตีทำลายเขื่อนดังกล่าว
สำนักงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ทวีตในวันอังคารว่า การทำลายเขื่อนแห่งนี้ทำให้ชีวิตประชาชนหลายพันคนตกอยู่ในอันตราย หลายคนไม่มีที่พักอาศัยและต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ เรียกเหตุการณ์ระเบิดเขื่อนว่าเป็น "การกระทำที่ร้ายแรงซึ่งแสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามที่รัสเซียก่อขึ้นในยูเครน"
ชาลส์ มิเชล ประธานสภายุโรป กล่าวว่า ตนรู้สึก "ตกตะลึงต่อการโจมตีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนครั้งนี้" และทางสภาฯ จะหารือเรื่องนี้ในการประชุมภายในเดือนนี้ และ "การทำลายโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนเข้าข่ายก่ออาชญากรรมสงครามอย่างแน่นอน และเราจะทำให้รัสเซียต้องชดใช้"
ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ กล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการในวันอังคารว่า ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ใช้ในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เชีย ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจใช้บึงน้ำใกล้กันในการหล่อเย็นไปได้ในช่วงไม่กี่เดือนจากนี้ พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจนำไปสู่หายนะด้านนิวเคลียร์ได้
บริษัทเอเนอร์โกอะตอม (Energoatom) ผู้ดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ ระบุทางเทเลแกรมว่า ความเสียหายต่อเขื่อนคาคอฟกา "อาจส่งผลเสียต่อโรงไฟฟ้าซาปอริซห์เชีย" แต่สถานการณ์ขณะนี้ยังสามารถ "ควบคุมได้"
- ข้อมูลบางส่วนจากเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์