เศรษฐกิจของประเทศลาวถูกคาดหมายว่าจะเติบโตรวดเร็วกว่าหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียหรือ ADB (Asian Development Bank) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจลาวจะขยายตัวในอัตรา 6.9 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และเร่งเครื่องเป็นร้อยละ 7 ปีหน้า
ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการสาธารณะของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย Rattanatay Luanglathbandith กล่าวว่า "ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจลาวมาจากอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เหมืองทองแดง เงินและทอง"
ประเทศลาวมีความมุ่งหวังที่จะเป็นแหล่งผลิตพลังงานของภูมิภาค กล่าวคือต้องการเป็นเสมือน “แบตเตอรี่แห่งเอเชียอาคเนย์”
ขณะนี้ลาวมีโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ 10 แห่ง และมีอีกสามโครงการที่อยู่ในขั้นตอนเสนอรายละเอียด แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากนักอนุรักษ์ธรรมชาติที่เป็นห่วงความสมบูรณ์ของพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง
ลาวยังมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่นำรายได้กว่า 720 ล้านดอลลาร์เข้าประเทศ และทางการได้ลงทุนขยายสนามบินแห่งชาติ ในโครงการมูลค่า 61 ล้านดอลลาร์
ผู้เชี่ยวชาญจาก ADB คุณ Rattanatay Luanglathbandith บอกว่า "การขยายตัวของภาคบริการในประเทศลาวกำลังเกิดขึ้น และเป็นแหล่งงานของคนวัยทำงานในประเทศ โดยอุตสาหกรรมที่เป็นกำลังสำคัญของภาคบริการคือ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และการให้บริการ IT เป็นต้น"
ประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของลาว คือ จีน ซึ่งประเทศจีนมีเงินลงทุนในลาวรวมมูลค่า 6,700 ล้านดอลลาร์ ใน 760 โครงการ ตามมาด้วยไทย เวียดนาม และมาเลเซียตามลำดับ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ Martin Stuart-Fox จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า "ลาวควรบริหารความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและจีนให้ดี เพราะเวียดนามมีความสำคัญด้านการเมืองและการทหาร ส่วนจีนเป็นผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ"
แม้ว่าเศรษฐกิจของลาวจะเติบโตอย่างรวดเร็ว นักวิเคราะห์เตือนถึงปัญหาคอร์รัปชั่น
อาจารย์ Martin Stuart-Fox กล่าวว่า "เงินส่วนหนึ่งที่มาจากจีนสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษของลาวโยงใยกับการฟอกเงินด้วย"
นอกจากนั้นประชากรลาวมากถึงร้อยละ 23 จากทั้งหมด 7 ล้านคน อยู่ในสภาพยากจนข้นแค้น
ส่วนประเด็นด้านงบประมาณที่เป็นจุดอ่อนของลาว Buawvanh Vilavong นักวิชาการแห่ง Australian National University กล่าวว่า "การขาดศักยภาพในการจัดการเศรษฐกิจมหภาคอย่างมีประสิทธิภาพของลาว ทำให้รัฐบาลเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง"
(รายงานโดย Ron Corben / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)