การประชุมสุดยอดระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ที่จะเกิดขึ้นวันศุกร์นี้ จะช่วยปูทางไปสู่การเจรจาระหว่าง นายคิม จอง อึน ผู้นำรัฐบาลเปียงยางและ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ
ดูเหมือนว่าทุกฝ่ายเห็นความหวังจากความคืบหน้าล่าสุดนี้ ต่อประเด็นความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี และสันติภาพในโลก
ที่ผ่านมา มีการประชุมสุดยอดของสองเกาหลีสองครั้ง คือเมื่อปี ค.ศ. 2000 และ 2007 และนำมาซึ่งความคืบหน้าด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการระงับโครงการนิวเคลียร์ของรัฐบาลเปียงยางเป็นการชั่วคราว
แต่พัฒนาการเหล่านี้สะดุดลง เมื่อคิม จอง อึน ผู้นำคนปัจจุบัน รื้อฟื้นโครงการทดลองขีปนาวุธและเทคโนโลยีนิวเคลียร์
คิม จอง อึน ถูกตอบโต้ด้วยมาตรการลงโทษจากนานาชาติ ที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ และแรงกดดันทางเศรษฐกิจดูเหมือนจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เขาตกลงร่วมเจรจาเพื่อลดรับความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี
นักวิเคราะห์ Cheong Seong-Chang จากสถาบัน Sejong Institute กล่าวว่า ภายใต้ความกดดันทางเศรษฐกิจ คิม จอง อึน เสี่ยงต่อการนำประเทศไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจ
นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวว่า หากปล่อยให้มาตรการลงโทษดำเนินต่อไป เงินสำรองของเกาหลีเหนือจะถูกใช้หมดไป และภายในสิ้นปีนี้ เกาหลีเหนือจะเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายภายในประเทศ
ในช่วงที่ผ่านมา นายคิม จอง อึน มีท่าทีที่อ่อนลง นอกจากที่เขาจะยอมเจรจากับเกาลีใต้และสหรัฐฯ แล้ว ผู้นำเกาหลีเหนือยังประกาศระงับโครงการทดลองขีปนาวุธและเทคโนโลยีนิวเคลียร์เมื่อวันศุกร์ และยังได้ประกาศปิดสถานที่ทดลองนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนืออีกด้วย
ที่สำคัญ นายคิมไม่ได้ตั้งเงื่อนไขใดๆ ในการเจรจาสุดยอด กล่าวคือ ณ ขณะนี้ เขาไม่ได้ต่อรองให้สหรัฐฯ ต้องถอนทหารออกจากเกาหลีใต้เสียก่อน เกาหลีเหนือจึงยุติโครงการนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนยังไม่มั่นใจในท่าทีของ คิม จอง อึน
Lee Sang-Hyun จากสถาบัน Sejong Institute กล่าวว่า เขาไม่แน่ใจว่าเกาหลีเหนือจะปลดอาวุธนิวเคลียร์จริง และจะร่วมการเจรจาสุดยอดกับสหรัฐฯ หรือไม่
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีเหลีใต้ นายมูน เเจ อิน บอกว่าเกาหลีเหนือแสดงความเต็มใจที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างเต็มรูปแบบ
นายมูน แจ อิน เป็นผู้นำหัวก้าวหน้าของเหลีใต้ เขาสนับสนุนมาตรการลงโทษที่แข็งขันต่อเกาหลีเหนือ ทั้งการลงโทษทางเศรษฐกิจ และการใช้ระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ของสหรัฐฯ และในเวลาเดียวกัน นายมูน พยายามปรับความสัมพันธ์กับรัฐบาลเปียงยาง จนนำไปสู่การร่วมกีฬาโอลิมปิกของเกาหลีเหนือ
คาดว่าที่การประชุมสุดยอดสองเกาหลีในวันศุกร์ นายมูนจะผลักดันให้เกิดการรื้อฟื้นให้ครอบครัวชาวเกาหลีที่ถูกแยกกันอยู่ให้ได้มาเจอกัน และเขาอาจสานต่อการเจรจาเพื่อให้เกิดข้อตกลงสันติภาพระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ที่ค้างคามาตั้งแต่สงครามเกาหลี เมื่อ 60 กว่าปีก่อน
อย่างไรก็ตาม มูน แจ อิน น่าจะหลีกเลี่ยงที่จะท้วงติงเกาหลีเหนือเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ก็คงไม่พยายามสานต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเปียงยาง เพราะแนวทางดังกล่าวจะขัดแย้งกับมติของสหประชาชาติ
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Brian Padden จากกรุงโซล)