ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศพันธสัญญาหลากหลายข้อของสหรัฐฯ ต่อที่ประชุมว่าด้วยปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติและมีผู้นำจากกว่า 100 ประเทศเข้าร่วมเพื่อหารือวิธีแก้ไขวิกฤตภาวะโลกร้อน
การประชุม 2021 United Nations Climate Change Conference หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า COP26 ขององค์การสหประชาชาติ มีขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 12 พฤศจิกายนนี้ที่ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เริ่มต้นขึ้นในวันจันทร์ โดยปธน.ไบเดน ประกาศว่า สหรัฐฯ มั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตนตั้งไว้ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งก็คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 50-52% ให้มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่าที่บันทึกได้เมื่อปี ค.ศ. 2005 ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030
ผู้นำสหรัฐฯ ยังกล่าวย้ำด้วยว่า สหรัฐฯ จะแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า อเมริกาไม่ได้เพียงกลับเข้ามาร่วมกับนานาประเทศในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน แต่ยังจะมาเป็นผู้นำด้วยการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการนี้ด้วย
นอกจากการแสดงความมุ่งมั่นดังกล่าวแล้ว ปธน.ไบเดน ยังประกาศเป้าหมายใหม่ๆ ของสหรัฐฯ อันได้แก่ แผนงานต่างๆ ภายใต้งบประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สำหรับนโยบาย President’s Emergency Plan for Adaptation and Resilience เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก รวมทั้งการสนับสนุนและดำเนินการต่างๆ การผ่านกฎหมายเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ และเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 1 กิกะตัน (gigaton) หรือราว 1 ล้านล้านกิโลกรัม ภายในปี ค.ศ. 2030 ด้วย
ทั้งนี้ ผู้ที่วิจารณ์ปธน.ไบเดน ให้ความเห็นว่า พันธสัญญาต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันนั้น ยังไม่ยิ่งใหญ่มากเท่ากับที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศสัญญาออกมา
ขณะเดียวกัน ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวเมื่อช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ตน “รู้สึกผิดหวัง” ที่จีนและรัสเซีย ไม่ได้เสนอพันธสัญญาใหม่ๆ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย
และในวันจันทร์นี้เอง รัฐบาลจีนประกาศว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะร่วมการประชุมสุดยอด COP26 ผ่านสุนทรพจน์ที่จัดพิมพ์ในรูปเอกสารเท่านั้น