ลิ้งค์เชื่อมต่อ

 
วิเคราะห์ท่วงท่าการเมือง ก่อนนายกฯ ญี่ปุ่นเข้าพบ 'ทรัมป์' ศุกร์นี้

วิเคราะห์ท่วงท่าการเมือง ก่อนนายกฯ ญี่ปุ่นเข้าพบ 'ทรัมป์' ศุกร์นี้


ภาพของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างพูดกับผู้สื่อข่าวขณะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร เมื่อ 31 ม.ค. 2568 และนายกฯ ชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่น ขณะแถลงข่าวร่วมกับนายกฯ ลาว ที่กรุงโตเกียวเมื่อ 21 ม.ค. 2568
ภาพของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างพูดกับผู้สื่อข่าวขณะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร เมื่อ 31 ม.ค. 2568 และนายกฯ ชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่น ขณะแถลงข่าวร่วมกับนายกฯ ลาว ที่กรุงโตเกียวเมื่อ 21 ม.ค. 2568

นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ แห่งญี่ปุ่นมีกำหนดเดินทางเยือนสหรัฐฯ และเข้าหารือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำเนียบขาวในวันศุกร์

เจ้าหน้าที่รัฐบาลกรุงโตเกียวเปิดเผยว่า การพูดคุยที่จะเกิดขึ้นนี้มีจุดประสงค์เพื่อยืนยันความเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ และเพื่อเสริมสร้างสายสัมพันธ์กับผู้นำสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี หลายคนในญี่ปุ่นเชื่อว่า เป้าหมายที่แท้จริงของอิชิบะคือการหาทางรับประกันว่า จะไม่เกิดปัญหาทางการทูตระหว่างสองประเทศในยุคที่นโยบายต่างประเทศพร้อมแนวคิด “อเมริกามาก่อน” (America First) ดูมีความเข้มข้นหนักกว่าในสมัยแรกของรัฐบาลปธน.ทรัมป์ในหลายด้าน

ภายในเวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์หลังเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ทรัมป์ยกระดับแรงกดดันมากมายต่อพันธมิตรและหุ้นส่วนทั้งหลายไปแล้ว เช่นขู่เรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มจากเม็กซิโกและแคนาดา เปรยถึงความน่าจะเป็นที่จะให้กำลังทหารเข้าจัดการกับแก๊งมาเฟียต่าง ๆ แนะว่า แคนาดาควรเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ รวมทั้งพูดถึงแนวคิดการยึดกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก และเตือนปานามาให้สกัดอิทธิพลของจีนให้ได้ มิฉะนั้น สหรัฐฯ อาจใช้กำลังยึดคลองปานามา

ท่าทีของทรัมป์สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย เพราะญี่ปุ่นพึ่งพาความสามารถด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เพื่อปกป้องตนเอง และที่ผ่านมาก็ดำเนินแนวทางการรักษาระเบียบสากลที่กรุงวอชิงตันนำเสนอมาโดยตลอด

เจฟฟรีย์ เจ ฮอลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยคานดะ กล่าวว่า สิ่งที่สื่อญี่ปุ่นและผู้คนต่างหวังกันคือ อิชิบะจะทำให้ญี่ปุ่นไม่กลายเป็นเป้าหมายโจมตีใหม่ของสหรัฐฯ

ในรัฐบาลสมัยแรกของทรัมป์ ญี่ปุ่นไม่ค่อยออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องใดนัก และพยายามรักษาสายสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดไว้เสมอ และผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็แนะว่า อิชิบะน่าจะทำตามแนวทางนี้เหมือนอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เคยทำ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า อิชิบะไม่ได้มีบุคลิกที่มีเสน่ห์เหมือนอาเบะ ซึ่งอาจทำให้การสร้างความใกล้ชิดกับทรัมป์นั้นทำได้ยากกว่า

การเดินทางเยือนกรุงวอชิงตันของนายกฯ ญี่ปุ่น ถูกมองในสายตาหลายฝ่ายด้วยความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งมีทั้งผู้ที่มองว่ายังไม่ควรไป สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่ยังดูไม่นิ่งนัก และฝ่ายที่เห็นว่าการอยู่เฉย ๆ ก็อาจไม่เป็นผลดีกับญี่ปุ่นเช่นกัน

มิเอโกะ นาคาบายาชิ อดีตสมาชิกรัฐสภาญี่ปุ่นและปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ในกรุงโตเกียว เชื่อว่า อิชิบะไม่ควรอยู่นิ่ง ๆ และเดินหน้าเข้าหาทรัมป์ เพราะหากสหรัฐฯ ขู่จะตั้งกำแพงภาษีกับญี่ปุ่นขึ้นมาภายหลัง การสร้างความสัมพันธ์ไว้ก่อนอาจจะช่วยจัดการกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นนี้ได้ดีกว่า

นักวิเคราะห์บางรายแนะด้วยว่า อิชิบะควรยกเรื่องที่ว่า ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ รวมทั้งกรณีที่บริษัทนิปปอนสตีลพยายามเข้าซื้อกิจการยูเอสสตีล ก่อนจะถูกรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน สกัดตกไป เพื่อซื้อใจผู้นำสหรัฐฯ ขณะที่ บางคนคาดเดาว่า ผู้นำญี่ปุ่นอาจเดินทางมาสหรัฐฯ เพียงเพื่อเชื้อเชิญทรัมป์มาเยือนโตเกียวเท่านั้น

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG