ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้เป็นเพียงสาเหตุเดียวที่ทำให้กรุงจาการ์ต้าเป็นหนึ่งในบรรดาเมืองที่กำลังจมลงอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก แต่การยุบตัวของดินอย่างช้าๆ เนื่องจากการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ ก็มีส่วนเป็นต้นเหตุของปัญหานี้ด้วย และเป็นต้นเหตุที่เกิดจากฝีมือมนุษย์
ชาวกรุงจาการ์ต้าส่วนมากพึ่งน้ำจากบ่อน้ำใต้ดินในการอุปโภคบริโภค ทำให้พื้นดินของกรุงจาการ์ต้าค่อยๆ ยุบตัวต่ำลงปีละ 7.6 เซ็นติเมตร โดยปัจจุบัน กรุงจาการ์ต้ามีประชากรทั้งหมดราว 11 ล้านคน
รายงานของหน่วยงาน Habitat แห่งสหประชาชาติในปี ค.ศ.2006 ชี้ว่าเทศบาลของกรุงจาการ์ต้าจัดหาน้ำดื่มได้ไม่เพียงพอเเก่ความต้องการของประชาชน ทำให้คนต้องหันไปใช้น้ำใต้ดินทดแทน
ประชาชนส่วนมากที่ต้องใช้น้ำจากบ่อน้ำใต้ดินเป็นหลัก อาศัยอยู่ในชุมชนยากจนตามเเนวชายฝั่งทางเหนือของกรุงจาการ์ต้า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยุบตัวลงรวดเร็วมากที่สุด
เพื่อรับมือกับปัญหานี้ ทางการอินโดนีเซียได้วางแผนจะสร้างผนังกั้นน้ำทะเลที่เรียกว่า “Great Garuda’’ ตั้งตามชื่อ พญาครุฑ สัญลักษณ์ของอินโดนีเซีย โดยโครงการนี้มีมูลค่าสี่หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
นอกจากจะผนังกั้นทะเลความยาว 24 กิโลเมตรแล้ว ยังจะสร้างเกาะเทียมขึ้นอีก 17 แห่งในบริเวณชายฝั่งทางเหนือของกรุงจาการ์ต้า โดยผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานว่า ผนังกั้นน้ำทะเลของเดิมในบริเวณนี้กำลังยุบตัวลงราว 25 เซ็นติเมตรต่อปี
โครงการก่อสร้างผนังกั้นทะเลขนาดยักษ์ Great Garuda นี้ เป็นความร่วมมือสามฝ่ายระหว่างทางการอินโดนีเซีย เนเธอร์เเลนด์และเกาหลีใต้ แต่โครงการนี้ยังไม่คืบหน้าเนื่องจากขนาดของโครงการที่ใหญ่มาก และความวุ่นวายทางการเมืองของอินโดนีเซียเอง
อย่างไรก็ตาม Victor Coenen ผู้จัดการโครงการแห่งบริษัทวิศวกรรมสัญชาติดัทช์ที่ควบคุมการก่อสร้างผนังกั้นทะเลนี้ กล่าวว่า ทางบริษัทหวังว่าจะก่อสร้างบางส่วนของผนังที่เป็นส่วนที่เร่งด่วน เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี และจะก่อสร้างให้เสร็จทั้งหมดภายใน 10 ปี
เขาชี้เเจงว่า การก่อสร้างในส่วนเเรกเป็นการก่อสร้างผนังกั้นน้ำทะเลขึ้นทดแทนผนังกั้นทะเลของเดิมที่อาจจะพังทลายลงได้ทุกเมื่อเนื่องจากพายุ หรือในช่วงคลื่นทะเลสูง โดยการก่อสร้างผนังกั้นทะเลใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 2015 และกำลังเดินหน้าอยู่ในขณะนี้บริเวณชุมชนเเนวชายฝั่งในทางเหนือของกรุงจาการ์ต้า
กรุงจาการ์ต้าเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ไม่กี่เมืองในโลกที่คนไม่นิยมอาศัยใกล้เเนวชายฝั่ง
แม้จะมีวิวทิวทัศน์ของทะเล แต่ชาวอินโดนีเซียที่ร่ำรวยอาศัยอยู่ในเขตตอนกลางและทางใต้ของเมืองหลวงที่มีต้นไม้ร่มรื่น เพราะเเนวชาวฝั่งของกรุงจาการ์ต้ามีปัญหาน้ำทะเลท่วมมาตั้งเเต่สมัยที่เป็นอาณานิคมของเนเธอร์เเลนด์ ทำให้เขตเเนวชายฝั่งกลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนยากจนที่สุดในเมืองหลวง
แต่ทางการไม่มีโครงการใดๆ ที่จะช่วยสร้างความตื่นตัวเเก่ประชาชนในพื้นที่ถึงผลเสียจากการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้
(รายงานโดย Krithika Varagur / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย)