ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จับตาเเรงกระเพื่อมจากสถานการณ์ 'สหรัฐ-อิหร่าน' ต่อโครงการนิวเคลียร์ 'โสมแดง'


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:57 0:00

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุด นอกจากจะสร้างแรงสั่นสะเทือนในตะวันออกกลางแล้ว อาจมีผลต่อโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือด้วย

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่รัฐบาลเตหะรานประกาศว่า ต่อไปจากนี้จะไม่ทำตามข้อตกลงที่จำกัดการเพิ่มศักยภาพเเร่ยูเรเนียม เป็นสัญญาณที่เกาหลีเหนือจับตามองอยู่อย่างใกล้ชิด

ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า เกาหลีเหนืออาจเกิดความฮึกเหิมมากขึ้นที่จะเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ของตนบ้าง

บรูซ เบ็นเนตต์ นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งฝ่ายวิจัยของบริษัท Rand Corporation กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ กำลังวุ่นอยู่กับภัยคุกคามจากอิหร่าน อาจทำให้เกาหลีเหนือคิดว่ารัฐบาลวอชิงตันคงไม่ดำเนินการตอบโต้รัฐบาลเปียงยาง ถ้าหากว่าเปียงยางดำเนินกิจกรรมคล้ายการก่อการร้าย

หลังจากที่อิหร่านยิงขีปนาวุธไปยังฐานทัพอิรักที่ทหารอเมริกันประจำการอยู่เมื่อคืนวันอังคารตามเวลาสหรัฐฯ ประธานาธิบดีออกเเถลงการณ์ในเวลาต่อมาว่า อเมริกาจะเพิ่มมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน แต่แสดงท่าทียับยั้งชั่งใจที่จะไม่โจมตีอิหร่านด้วยกำลังทหาร ณ ขณะนี้

โจเซฟ บอสโค ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออก ที่สถาบัน Institute for Corea-American Studies หรือ ICAS กล่าวว่า เกาหลีเหนืออาจตีความว่า สหรัฐฯ ไม่ทำอะไร ถ้าอิหร่านสังหารคนอเมริกัน นั่นอาจเป็นสัญญาณให้กรุงเปียงยางใช้นโยบายที่ก้าวร้าวขึ้นกับสหรัฐฯ ได้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายคิม จองอึน กล่าวว่า เกาหลีเหนือมีความประสงค์ที่จะเพิ่มแสนยานุภาพด้านกลาโหม คำแถลงดังกล่าวของผู้นำเกาหลีเหนือมีขึ้นหลังจากที่เขาให้คำมั่นหลายครั้งว่าจะเดินเกมใหม่ หากสหรัฐฯ ยังไม่เปลี่ยนทัศนคติต่อเกาหลีเหนือ ซึ่งถูกตีความว่าน่าจะหมายถึงการใช้มาตรการลงโทษของสหรัฐฯ ต่อเปียงยาง

เมื่อปีที่แล้ว เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธ 13 ครั้ง ในความพยายามกดดันให้อเมริกายอมผ่อนปรนมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นายคิม จอง อึน เคยขอให้ประธานาธิบดีทรัมป์ลดการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือ ที่การประชุมสุดยอดของสองผู้นำเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว แต่ไม่ประสบผล

ตัวแทนของทั้งสองประเทศพยายามกลับมาเจรจาต่อที่กรุงสต็อคโฮล์ม เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่การพูดคุยจบลงโดยไม่มีข้อสรุป นั่นหมายความว่ายังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

เคน กอส ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์ข้อมูลแห่งบริษัทวิจัย CNA กล่าวว่า ทั้งอิหร่านและเกาหลีเหนือกำลังมองกันและกันอยู่ว่าจะสามารถเพิ่มระดับภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ ได้มากถึงจุดใด เขากล่าวว่าทั้งสองประเทศศึกษาพฤติกรรมของสหรัฐฯ ที่มีต่อการเดินเกมของอีกฝ่ายหนึ่ง เปรียบดั่งกรณีศึกษาว่าฝ่ายตนจะสามารถทดสอบการบีบคั้นต่ออเมริกาได้มากที่สุดเท่าใดโดยไม่ถูกโจมตีรุนแรง

หลังจากที่สหรัฐฯ ส่งโดรนไปสังหารนายพล กาส์เซม สุไลมานี ของอิหร่าน เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว รัฐบาลอิหร่านประกาศว่าจะไม่ทำตามข้อตกลงนิวเคลียร์กับประเทศมหาอำนาจที่มีขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2015 อีกต่อไป

และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายคิม จอง อึน ประกาศคล้ายกันว่า เกาหลีเหนือไม่รู้สึกว่ามีพันธะที่ต้องระงับการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปตามที่ตั้งใจไว้เดิม

ทั้งอิหร่านและเกาหลีเหนือยังไม่มีศักยภาพถึงขึ้นที่สามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ แต่อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ลอว์เรนซ์ คอร์บ กล่าวว่า ถ้าอิหร่านเดินหน้าพัฒนาศักยภาพของตนให้สามารถมีอาวุธนิวเคลียร์ได้ เกาหลีเหนืออาจมีความทะเยอทะยานที่จะเดินทางสายเดียวกันกับเตหะราน

ในอดีต เกาหลีเหนือเคยขายขีปนาวุธและอาวุธเคมีให้กับอิหร่านและซีเรีย ในการประเมินของสหรัฐฯ เมื่อ 3 ปีก่อน เกาหลีเหนือน่าจะผลิตวัตถุนิวเคลียร์เเต่ละปีได้มากพอที่จะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ 12 ลูก ตามรายงานของโครงการ Nuclear Threat Initiative

หากเกิดการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือไปยังประเทศอื่นในอนาคต ผู้สันทัดกรณีมองว่า สหรัฐฯ อาจมองว่านั่นเป็นการข้ามเส้น และเกาหลีเหนืออาจตกเป็นเป้าการโจมตีของสหรัฐฯ ได้

XS
SM
MD
LG