ผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จองอึน ส่งสัญญาณว่าการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ คงไม่มีความคืบหน้า และชาวเกาหลีเหนือควรเตรียมรับ ‘ความเป็นจริง’ ของมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศ
ในคำแถลงหลังการประชุมพรรคปลายปี คิม จอง อึน แสดงท่าทีขัดขืนครั้งใหม่ต่อสหรัฐฯ เรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์
ผู้นำเกาหลีเหนือกล่าวว่า ชาวเกาหลีควรยอมรับว่าจะต้องอยู่ภายใต้มาตรการลงโทษจาก ‘กลุ่มอำนาจที่ก้าวร้าว’ ในอนาคต เนื่องจาก ‘การเผชิญหน้าระยะยาวกับอเมริกา’
เขาขู่ด้วยว่าเกาหลีเหนืออาจจะกลับมาทดลองขีปนาวุธข้ามทวีปหรือการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และว่าโลกอาจจะได้เห็น ‘อาวุธยุทธศาสตร์แบบใหม่’
ท่าทีล่าสุดของเกาหลีเหนือนี้เกิดขึ้นหลังจากการประชุมสุดยอดระหว่างนายคิมและประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ไม่เกิดความคืบหน้า
อาจารย์ แอนเดรย์ อับราฮาเมียน แห่ง มหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน วิทยาเขตเกาหลี กล่าวว่า การเจรจาที่ไม่บังเกิดผลที่ฮานอยทำให้เกาหลีเหนือเสียภาพลักษณ์ โดยฝ่ายคิม จอง อึน ต่อรองให้มีการผ่อนปรนมาตรการลงโทษ แต่ฝ่ายประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ยินยอม
นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า ด้วยเหตุที่ว่าคิม จอง อึน อาจจดูอ่อนแอในการเจรจาครั้งนั้น เขาจึงปรับท่าทีใหม่ให้แข็งกร้าวมากขึ้นในขณะนี้ ด้วยการแสดงให้เห็นว่าเกาหลีเหนืออยู่ได้โดยที่สหรัฐฯ ไม่ต้องยกเลิกมาตรการลงโทษ
ที่การเจรจาในกรุงฮานอย คิม จอง อึน ขอให้อเมริกาผ่อนปรนมาตรการลงโทษ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการรื้อถอนบางส่วนของศูนย์นิวเคลียร์ยงเบียงในเกาหลีเหนือ แต่ฝ่ายประธานาธิบดีทรัมป์ไม่รับข้อเสนอดังกล่าว เพราะเขาต้องการให้เกาหลีเหนือยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมด
ถ้อยแถลงของนายคิมหลังการประชุมสิ้นปี ยังถูกมองว่าเป็นการส่งผลทางจิตวิทยาให้กลุ่มต่าง ๆ ในประเทศ ยังคงสวามิภักดิ์ต่อตน และย้ำถึงความสำคัญของการพึ่งพาตนเองในยามยาก
เจนนี ทาวน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือแห่งสถาบัน Stimson Center ที่กรุงวอชิงตัน กล่าวว่า คำพูดของคิม จอง อึน ชี้ให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงที่คนต้องเรียนรู้ซึ่งช่วยอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
คิม จอง อึน กล่าวอ้อม ๆ ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดนโยบาย ‘รัดเข็มขัด’ ในการเลือกถ้อยคำที่สื่อว่า ภายประชาชนอาจต้องทนรับสถานการณ์ เพื่อให้รัฐสามารถทุ่มเทต่อการเพิ่มศักยภาพทางนิวเคลียร์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
นักวิเคราะห์ ดูเยียน คิม แห่ง International Crisis Group กล่าวว่า ทางการเกาหลีเหนือชี้ว่าโครงการอาวุธนิวเคลียร์ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของความสำเร็จทางเศรษฐกิจ
ส่วน เรเชล มินยัง ลี ผู้สันทัดกรณีที่กรุงโซลแห่งเว็บไซต์ข่าวเจาะลึกเรื่องเกาหลีเหนือ NK News กล่าวว่า สัญญาณจากผู้นำคิมควรทำให้ชาวเกาหลีเหนือเข้าใจได้ว่าความยากลำบากกำลังรออยู่ข้างหน้า
ในบางช่วงของถ้อยแถลง ดูเหมือนว่าผู้นำคิมยอมรับว่ามาตรการลงโทษสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือ โดยเขากล่าวว่า “เราไม่สามารถยอมล้มเลิกความสำคัญด้านความมั่นคง เพื่อความสะดวกสบาย ความสุขและผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ”
เนื่องจากนายคิมยังคงไม่ปิดประตูต่อความเป็นไปได้ที่จะกลับมาเจรจากับสหรัฐฯ แต่ยกระดับความแข็งกร้าวเรื่องการพัฒนานิวเคลียร์ นักวิเคราะห์จึงชี้ว่า หากเกิดการเจรจาสุดยอดของสองผู้นำอีกครั้ง อเมริกาควรปฏิบัติต่อเกาหลีเหนือเยี่ยงคู่เจรจาที่เป็นประเทศซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอย่างมีสำนึกรับผิดชอบ