ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อินโดนีเซียเดินหน้าการสำรวจความเป็นไปได้เรื่อง 'ย้ายเมืองหลวง'


FILE - In this Jan. 11, 2013 photo, workers build an elevated highway in Jakarta, Indonesia.
FILE - In this Jan. 11, 2013 photo, workers build an elevated highway in Jakarta, Indonesia.

กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย ขึ้นชื่อว่ามีปัญหาการจราจรติดขัดรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยหน่วยงานคมนาคมของอินโดนีเซียประเมินว่า ปัญหาดังกล่าวสร้างค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจกว่าหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์

ประเด็นนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทางการพิจารณาความเป็นไปได้เรื่องการย้ายเมืองหลวงไปที่แห่งใหม่

เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ของอินโดนีเซีย สั่งให้หน่วยงานวางแผนพัฒนาทำสำรวจเพื่อดูสถานที่ในจังหวัดกะลิมันตัน บนเกาะบอร์เนียว ซึ่งอยู่ตอนเหนือของเกาะชวาซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงจาการ์ตา

เมืองที่ถูกคาดหมายว่าเข้าข่ายเป็นเมืองหลวงใหม่ คือ นครปาลังคารายา (Palangkaraya) เมืองแห่งนี้เคยถูกคาดหมายให้เป็นนครหลวงแห่งใหม่ตั้งแต่ยุคประกาศอิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมดัชท์ เมื่อ 73 ปีก่อน

การพิจารณาแผนย้ายเมืองหลวงคำนึงถึงปัจจัยที่ว่า สถานที่แห่งนี้ควรอยู่ตอนกลางของประเทศ ซึ่งเกาะบอร์เนียวตอบโจทย์ดังกล่าว

นอกจากนั้น เกาะบอร์เนียวยังมีความเสี่ยงน้อยกว่าที่จะเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด หากเทียบกับหลายส่วนของประเทศ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ว่าการจังหวัดกะลิมันตัน นายซูจิอาโน ซาบรานกล่าวว่า ทางการท้องถิ่นเตรียมพื้นที่หลายพันไร่ที่เมืองปาลังคารายา และส่วนอื่นๆ ไว้สำหรับการย้ายเมืองหลวง ถือเป็นการช่วยกระตุ้นแผนดังกล่าวให้มีความคืบหน้า

นักเขียนโจฮานเนส นูโกรโฮ กล่าวว่า แผนย้ายเมืองหลวงมาที่ปาลังคารายา คือการรื้อโครงการสมัยสร้างชาติ และช่วยตอบสนองความโหยหาความรู้สึกเก่าๆ เมื่อตอนที่อินโดนีเซียเป็นอิสระจากอาณานิคมตะวันตก

แต่โครงการนี้ถูกตั้งถามหลายด้าน

ประการแรก มีผู้กังวลถึงผลด้านสิ่งแวดล้อมต่อเกาะบอร์เนียว หากมีการย้ายเมืองหลวงมาที่เมืองปาลังคารายา เพราะปัจจุบันเกาะบอร์เนียวเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าหายากหลายชนิด รวมถึงลิงอุรังอุตัง

อีกประการหนึ่งคือ ความยุ่งยากจากการเปลี่ยนศูนย์เศรษฐกิจของประเทศจากจาการ์ตามาที่แห่งใหม่ และกระบวนการย้ายสถานที่ราชการ ระบบศาล และหน่วยงานทางทหาร ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของผู้สื่อข่าว Krithika Varagur)

XS
SM
MD
LG