รัฐบาลอินโดนีเซียของประธานาธิบดี Susilo Bambang Yudhoyono ได้ริเริ่มนโยบายคืนผืนป่าให้กับชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ในอินโดนีเซีย
แต่แม้เวลาจะผ่านมาถึงห้าปี หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศมีคำตัดสินให้ปกป้องสิทธิของชนพื้นเมือง กลับมีพื้นที่ป่าเพียงราว 125,000 ไร่เท่านั้นจากผืนป่ากว่า 51 ล้านไร่ ซึ่งมีการมอบคืนให้กับกลุ่มคนเหล่านี้
ปัญหาความล่าช้าดังกล่าว มีสาเหตุมาจากทั้งระบบราชการ การขาดระบบกฎหมายท้องถิ่นเพื่อรองรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจากความแตกต่างหลากหลายด้านภูมิประเทศ จากภัยคุกคามของสิ่งแวดล้อม จากกฎหมายจารีตประเพณีที่แตกต่างกันของชนเผ่ากลุ่มต่างๆ และจากการที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานด้านนโยบายด้วย
ทำให้การนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติยังไม่เกิดผลเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัฐบาลอินโดนีเซียจะยังไม่สามารถดำเนินการได้เพียงพอ เพื่อส่งมอบผืนป่าคืนให้กับกลุ่มชนพื้นเมืองต่างๆ กิจกรรมเชิงพาณิชย์ของบริษัทเอกชน เช่น การตัดไม้ และการนำทรัพยากรของป่าออกมาใช้ ก็ยังคงดำเนินต่อไป
ตามรายงานเมื่อปี 2016 ของ World Resources Institute และ Woods Hole Research Center นั้น ป่าฝนเขตร้อนของอินโดนีเซียมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพบรรยากาศของโลก และต่อภาวะโลกร้อนด้วย
โดยกว่า 25 % ของก๊าซคาร์บอนที่ลดลงได้โดยป่าเขตร้อนนั้น มาจากพื้นที่ป่าของชนเผ่าพื้นเมืองในอินโดนีเซีย
และพื้นที่ป่าเหล่านี้ก็มีส่วนสำคัญที่ต่อต้านปรากฏการณ์เรือนกระจกและลดปัญหาโลกร้อน รวมทั้งยังช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วงเวลาอีกหลายสิบปีต่อจากนี้ด้วย