ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อินเดียประท้วงแผนที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออรุณาจัลประเทศ-ทิเบตใต้


อินเดียกล่าวในวันอังคารว่า ได้ประท้วงอย่างแข็งกร้าวต่อจีนหลังจากที่จีนเปิดเผยแผนที่ประเทศฉบับใหม่ประจำปี 2023 ที่แสดงให้เห็นดินแดนส่วนที่จีนเรียกว่า อักไซจิน (Aksai Chin) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นแคชเมียร์ที่จีนครอบครองอยู่ และรัฐอรุณาจัลประเทศทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งจีนระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน

แผนที่ดังกล่าวตีพิมพ์เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของจีนในวันจันทร์ ไม่กี่วันหลังจากที่ทั้งสองประเทศเพิ่งตกลงร่วมมือกันผ่อนคลายความตึงเครียดตามแนวพรมแดน

แผนที่ฉบับใหม่ดังกล่าวยังรวมไต้หวันและทะเลจีนใต้เป็นส่วนหนึ่งของจีนด้วย

โฆษกกระทรวงกิจการต่างประเทศของอินเดีย อรินดัม บากชี ประกาศเมื่อเย็นวันอังคารว่า ได้ติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศจีนเพื่อยื่นหนังสือประท้วงผ่านช่องทางการทูต ต่อ "แผนที่มาตรฐาน" ประจำปี 2023 ของจีน ซึ่งกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนของอินเดีย

แผนที่แสดงให้เห็นพรมแดนที่อยู่ในข้อพิพาทระหว่างจีนกับอินเดีย
แผนที่แสดงให้เห็นพรมแดนที่อยู่ในข้อพิพาทระหว่างจีนกับอินเดีย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี และประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง พบกันที่การประชุมกลุ่มประเทศ BRICS ที่แอฟริกาใต้ และตกลง "เพิ่มความพยายาม" ในการลดความตึงเครียดตามแนวพรมแดนลง ซึ่งทั้งสองประเทศยกย่องความตกลงดังกล่าวว่าเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน

การเปิดเผยแผนที่จีนฉบับใหม่มีขึ้นก่อนการประชุมกลุ่ม จี20 (Group of 20) ที่กรุงนิวเดลี ในวันที่ 9-10 กันยายน โดยปธน.สี จะเดินทางไปร่วมการประชุมนี้ด้วย

พรมแดนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง

พื้นที่ความขัดแย้งดังกล่าวคือรัฐอรุณาจัลประเทศที่อินเดียครอบครองอยู่ แต่จีนก็กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เช่นกันโดยเรียกว่า "ทิเบตใต้" โดยเมื่อปี 1962 ทั้งสองประเทศเคยรบกันมาแล้วในบริเวณนี้และจีนได้รุกคืบเข้าไปในรัฐนั้น แต่สุดท้ายจีนตัดสินใจคืนพื้นที่ให้อยู่ในการควบคุมของอินเดียและจัดทำ "เส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง" (Line of Actual Control--LAC) ขึ้นมาซึ่งมีระยะทางกว่า 3,500 กม. ผ่านแนวเทือกเขาหิมาลัยที่สลับซับซ้อนและทุรกันดาร

"เส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง" (Line of Actual Control--LAC) ระหว่างจีนกับอินเดีย ระยะทางกว่า 3,500 กม. ผ่านแนวเทือกเขาหิมาลัยที่สลับซับซ้อนและทุรกันดาร
"เส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง" (Line of Actual Control--LAC) ระหว่างจีนกับอินเดีย ระยะทางกว่า 3,500 กม. ผ่านแนวเทือกเขาหิมาลัยที่สลับซับซ้อนและทุรกันดาร

ความสัมพันธ์ทางการทูตของจีนและอินเดียย่ำแย่ลงหลังเกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารของทั้งสองฝ่ายบริเวณพรมแดนเทือกเขาหิมาลัยเมื่อปี 2020 ซึ่งมีทหารอินเดียเสียชีวิต 20 คน และทหารจีนเสียชีวิต 4 คน

ตั้งแต่นั้น ทั้งสองประเทศได้จัดการหารือทางการทูตเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งนี้มากกว่าสิบครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ

เมื่อเดือนเมษายน จีนออกแถลงการณ์ประกาศว่าได้จัดทำรายชื่อสถานที่ต่าง ๆ รวม 11 แห่งในพื้นที่ทับซ้อนนั้น โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่าพื้นที่ "ทิเบตใต้" เป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่อินเดียออกมาปฏิเสธคำกล่าวอ้างของจีน พร้อมยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือรัฐอรุณาจัลประเทศ

เมื่อวันอังคาร โฆษกกระทรวงกิจการต่างประเทศอินเดียกล่าวว่า การเผยแพร่แผนที่ฉบับใหม่ของจีนยิ่งทำให้ข้อพิพาทเรื่องนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียชี้ว่า การกล่าวอ้างลักษณะนี้เป็นเพียง "พฤติกรรมเก่า ๆ ของจีน"

  • ที่มา: วีโอเอ

XS
SM
MD
LG