ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: จีนแต่งประวัติศาสตร์ใหม่-ย้ำ ‘ไม่เคยก่อสงครามแม้แต่ครั้งเดียว’ จริงหรือ?


A Chinese man visits the Chinese military 'Martyr's Cemetery' from the 1979 war with Vietnam, at the border town of Malipo , 22 February 2007. (Mark Ralston/AFP)
A Chinese man visits the Chinese military 'Martyr's Cemetery' from the 1979 war with Vietnam, at the border town of Malipo , 22 February 2007. (Mark Ralston/AFP)
เหมา หนิง

เหมา หนิง

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน

“เราไม่เคยรุกรานประเทศใด เราไม่เคยเริ่มต้นสงครามตัวแทนใด ๆ เราไม่เคยเข้าร่วมกับปฏิบัติการทางทหารในระดับโลกหรือข่มขู่ประเทศใดด้วยกำลัง”

เท็จ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาแสดงความเห็นต่อการที่ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) แสดงความกังวลต่อท่าทีของจีนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ด้วยคำกล่าวว่า ตนนั้น “มีประวัติผลงานที่ดูดีกว่าประเทศชั้นนำใด ๆ ในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง”

เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวด้วยว่า “เราไม่เคยรุกรานประเทศใด เราไม่เคยเริ่มต้นสงครามตัวแทนใด ๆ เราไม่เคยเข้าร่วมกับปฏิบัติการทางทหารในระดับโลกหรือข่มขู่ประเทศใดด้วยกำลัง”

คำแถลงดังกล่าวนี้เป็นความเท็จ

เหตุผลแรกก็คือ คำกล่าวอ้างที่ว่า จีนไม่เคยรุกรานประเทศใดดังที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยืนยันในการปราศรัยในปี ค.ศ. 2021 มาแล้วเป็นเรื่องเท็จ อย่างที่ Polygraph.info เคยระบุในรายงานก่อนหน้านี้ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นเคยรุกรานเวียดนามและอินเดียมาแล้ว

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1979 ทหารจีนจำนวนหลายแสนนายได้เดินทางข้ามพรมแดนความยาว 600 กิโลเมตรไปยังเวียดนามเพื่อ “สั่งสอน” ประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ที่หันไปเข้าข้างสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของจีน หลังความตึงเครียดระหว่างทั้งสองยกระดับขึ้นมามากตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1970

ทั้งนี้ สงครามในปี ค.ศ. 1979 ดำเนินไปไม่ถึงเดือน และมีรายงานว่า ทหารจีนเป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำบาดเจ็บและเสียชีวิตมากกว่าฝ่ายเวียดนาม แต่นิตยสาร The Diplomat ตีพิมพ์บทความในฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2017 ที่วิเคราะห์สถานการณ์สงครามจีน-เวียดนามว่า หลังสงครามยุติลง จีน “ดำเนินแผนงานรณรงค์กึ่งสาธารณะที่นำมาซึ่งเหตุการณ์มากมายตามพรมแดนแต่ไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นเป็นสงครามเล็ก ๆ แบบจำกัด” โดยมีทั้งการปะทะกันระหว่างกองทหารติดอาวุธและปฏิบัติการสงครามจิตวิทยาด้วย

และแม้จะไม่มีฝ่ายใดนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากสงครามตามแนวชายแดนระหว่างกันออกมา เว็บไซต์ข่าว The China Project ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครนิวยอร์ก รายงานว่า คิง เชน นักประวัติศาสตร์ ทำการประเมินแล้วว่า แต่ละฝ่ายน่าจะ “มีทหารเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 2,500 รายและได้รับบาดเจ็บกว่า 30,000 นาย”

ก่อนหน้านั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนส่งกองทัพรุกรานทิเบตในปี ค.ศ. 1959 และต่อมา ก็เริ่มทำสงครามตามแนวชายแดนกับอินเดียที่เริ่มต้นในวันที่ 10 ตุลาคม และสิ้นสุดลงในวันที่ 21 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1962 และอย่างที่ Polygraph.info รายงานไปก่อนหน้า นักประวัติศาสตร์บางรายเชื่อว่า “ต้นสายปลายเหตุ” ของสงครามครั้งนั้นก็คือ ความเชื่อของจีนว่า อินเดีย “พยายามบ่อนทำลายการปกครองของจีนเพื่อยึดทิเบต (เป็นของตน)”

ก่อนจะเกิดสงครามนั้น มีสัญญาณความตึงเครียดออกมาบ้าง อาทิ จำนวนทหารตระเวณชายแดนที่เพิ่มขึ้นและการต่อสู้ระหว่างกองกำลังอินเดียและจีนตามพรมแดนแถบเทือกเขาหิมาลัยซึ่งเป็นจุดที่มีข้อพิพาทอยู่ และความขัดแย้งของสองประเทศเพื่อนบ้านก็ยกระดับขึ้นในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1962 เมื่อทหารจีนทำการรุกรานเต็มรูปแบบที่บริเวณพรมแดนทางตะวันออกของอินเดีย

ในครั้งนั้น จีนเป็นผู้ชนะสงครามเหนืออินเดียและยึดพื้นที่ราว 39,000 ตารางกิโลเมตรของแคว้นลาดักห์มาได้ก่อนจะรวบอำนาจการปกครองมาเป็นของตน และถึงจะมีการประกาศหยุดยิงแล้ว สถานการณ์ความขัดแย้งตามแนวชายแดนระหว่างจีนและอินเดียก็ยังดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยบางครั้งมีการยกระดับจนถึงขั้นการปะทะกันระหว่างกองกำลังของทั้งสองด้วย

ในปี ค.ศ.1967 กรุงปักกิ่งส่งกองกำลังของตนไปปะทะกับฝ่ายอินเดียอีกครั้ง ตามมาด้วยการปะทะรุนแรงจนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2020 โดยเหตุการณ์เผชิญหน้ากันครั้งล่าสุดที่มีรายงานออกมาเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว

เหมา เจ๋อตุง ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนและผู้นำสูงสุดของประเทศให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาโดยตลอด ขณะที่ การที่อดีตผู้นำจีนสนับสนุนกลุ่มเขมรแดงของกัมพูชาก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มดังกล่าวยึดอำนาจการปกครองประเทศได้ในปี ค.ศ. 1975 ด้วย

รัฐบาลเขมรแดงสังหารผู้คนไปถึง 3 ล้านคนและเดินหน้าปกครองประเทศจนกระทั่งปี ค.ศ. 1979 เมื่อกองกำลังของเวียดนามรุกเข้าไปในกัมพูชาและโค่นรัฐบาลนี้สำเร็จ

เดียป โสพาล ผู้เขียนหนังสือ “The Causes of the Cambodian War” บอกกับ วีโอเอ ในปี ค.ศ. 2019 ว่า “จีนสนับสนุนเขมรแดงในสงครามปี 1970-1975 และเป็นผู้สนับสนุนสำคัญตลอดช่วงที่เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคกัมพูชาประชาธิปไตยในช่วงปี ค.ศ. 1975-1979 ด้วย”

ทั้งนี้ จีนเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือรายสำคัญต่อพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือในช่วงสงครามเวียดนามระหว่างปี ค.ศ. 1955-1975 ด้วยการนำส่งอาวุธ กระสุน ที่ปรึกษาทางทหารและกำลังทหาร เช่นเดียวกับที่เคยช่วยเกาหลีเหนือในสงครามเกาหลีระหว่างปี ค.ศ. 1950-1953

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การที่จีนออกมากล่าวอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้ทำให้เกิดความกลัวว่า อาจเกิดความขัดแย้งทางทหารในภูมิภาคนี้ ขณะที่ จีนก็สร้างเกาะแก่งเทียมขึ้นมาในผืนน้ำที่เป็นจุดพิพาทพร้อม ๆ กับติดตั้งอาวุธทางทหาร เช่น เครื่องบินรบ ระบบขีปนาวุธต่อต้านเครื่องบินและเรือรบ และอุปกรณ์รบกวนสัญญาณและเลเซอร์ ด้วย

กรุงปักกิ่งเดินหน้าทำการต่าง ๆ ที่ว่า แม้ประธานาธิบดีสีจะให้คำมั่นที่รับรู้กันไปทั่วในเดือนกันยายนปี ค.ศ. 2015 ต่ออดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ว่า จีน จะไม่ทำการติดตั้งอาวุธทางทหารใด ๆ บนเกาะแก่งเทียมทั้งหลาย

และอย่างที่ Polygraph.info ได้รายงานมาก่อนหน้านี้ จีนได้ส่งเรือประมงออกมาอ้างสิทธิ์ของตนและดำเนินการทางทหารที่หมิ่นเหม่เป็นอันตรายต่าง ๆ เพื่อกันไม่ให้สหรัฐฯ และพันธมิตรต่าง ๆ เข้าถึงเส้นทางเดินทางน้ำที่มีกรณีพิพาทกันและเส้นทางเดินเรือสากลในทะเลจีนใต้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ฟิลิปปินส์เพิ่งกล่าวหาจีนว่า ทำการยิง “เลเซอร์ที่ใช้ในกองทัพ” เข้าใส่เรือของตนที่ออกทำภารกิจเติมเสบียงเป็นประจำอยู่แล้ว ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

และเมื่อเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้ว ออสเตรเลียรายงานว่า เครื่องบินรบ เจ-16 ของจีนบินเข้ามาสกัดเครื่องบิน พี-8 ของกองทัพอากาศออสเตรเลียซึ่งเป็นเครื่องบินสังเกตการณ์การเดินเรือ ขณะทำการ “ตรวจตราและบินสังเกตการณ์การเดินเรือที่ทำเป็นประจำ” ในน่านฟ้าสากล

ปีเตอร์ เลย์ตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหม เขียนบทความที่ตีพิมพ์ทางเว็บไซต์ของ Lowy Institute ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองของออสเตรเลียว่า “ออสเตรเลียทำการลาดตระเวณกิจกรรมทางน้ำในพื้นที่(ดังกล่าว)มานานหลายทศวรรษ – เที่ยวบินของเครื่อง พี-8 นั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่เหมือนกับท่าทีก้าวร้าวของเครื่องบินรบ เจ-16”

นอกจากนั้น ที่ผ่านมา Polygraph.info ยังได้รายงานเกี่ยวกับภัยคุกคามทางทหารของจีนต่อไต้หวันซึ่งปกครองตนเองด้วยระบอบประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ
XS
SM
MD
LG