นาง Shayara Bano หญิงมุสลิมชาวอินเดียเป็นผู้ยื่นคำร้องเรียนเนื่องจากสามีได้หย่าขาดจากเธอโดยการกล่าวคำว่า talaq สามครั้งหลังจากเเต่งงานกันมานาน 13 ปี
เธอระบุว่ากฏหมายมุสลิมในบทที่อนุญาตให้ชายมุสลิมหย่าขาดภรรยาได้ทันทีตามต้องการนี้ เป็นการปฏิบัติต่อผู้หญิงราวกับว่าเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ชายและยังขัดต่อหลักปฏิบัติสมัยใหม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย
ในข้อร้องเรียนนี้ นาง Bano กล่าวว่ามีผู้ชายหลายคนที่หย่าขาดจากภรรยาด้วยการโพสต์คำว่า Talaq สามคำบนหน้า Facebook Skype หรือส่งเป็นข้อความ
อินเดียมีกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวแยกต่างหากแล้วเเต่ศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งงาน การสืบทอดมรดก การรับบุตรบุญธรรม และการดูแลเลี้ยงดู
บรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีรณรงค์มานานเเล้ว ให้มีการห้ามการหย่าร้างตามกฏหมายมุสลิมนี้ และร้องเรียนว่าระบบนี้ไม่ยุติธรรมต่อผู้หญิง
คุณ Noorjehan Safia Niaz ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Bharatiya Muslim Mahila Andolan (BMMA) ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการสั่งห้ามการใช้ระบบการหย่าร้างนี้ กล่าวว่าระบบการหย่าร้างด้วยคำพูดดังกล่าวมีผลกระทบต่อฝ่ายหญิงที่ไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นในขั้นตอนนี้เลย
กลุ่มเคลื่อนไหวอย่าง กลุ่ม BMMA และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฏหมายอิสลามเรียกระบบการหย่าร้องด้วยการกล่าวคำว่า talaq สามครั้งนี้ ว่าเป็นการปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนไปจากระบบการหย่าร้างที่ระบุในพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน
พวกเขาชี้ว่าคำกล่าวนี้จะต้องใช้กล่าวในช่วงระยะเวลาสามเดือน และต้องใช้วิธีไกล่เกลี่ยให้สามีภรรยาปรองดองกันควบคู่ไปด้วย
การกล่าวคำว่า talaq สามครั้งในคราวเดียวกันอย่างที่ปฏิบัติในอินเดีย ถูกสั่งห้ามในหลายประเทศ รวมทั้งในปากีสถาน อิหร่าน อินโดนีเซียและบังคลาเทศ
ขณะนี้ มีเสียงเรียกร้องกันมากขึ้นในกลุ่มหญิงมุสลิมชาวอินเดีย ให้มีกฏหมายอิสลามที่มีการตีความชัดเจนมากขึ้น และห้ามการมีภรรยาหลายคน ตลอดจนการหย่าร้างที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการของรัฐบาลอินเดียที่ศึกษาสถานภาพของผู้หญิงในอินเดีย ก็ได้แนะนำให้ถือว่าการหย่าร้างด้วยคำพูดเป็นการกระทำผิดกฏหมาย และชี้ว่าวิถีปฏิบัตินี้ทำให้ผู้หญิงมุสลิมในฐานะภรรยาขาดความมั่นคงและถูกเอาเปรียบได้
อย่างไรก็ตาม บรรดาอิหม่ามและหน่วยงานมุสลิมที่มีอิทธิพล รวมทั้งกลุ่ม All India Muslim Personal Law Board (AIMPLB) ต่างคัดค้านรุนแรงต่อการปฏิรูปกฏหมายหย่าร้างนี้ โดยอ้างตลอดมาว่าระบบยุติธรรมของประเทศไม่มีอำนาจทบทวนกฏหมายมุสลิมที่เกี่ยวกับเรื่องส่วนบุคคล
นาย Syed Qasim Rasool Ilyas สมาชิกคนสำคัญของกลุ่ม AIMPLB กล่าวว่าทางกลุ่มได้ชี้เเจงเเก่ศาลสูงแล้วว่า กฏหมายอิสลามไม่ได้ร่างโดยฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐบาลในประเทศนี้ แต่เป็นบทบัญญัติตามพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนาซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับศาลสูงสุด
อย่างไรก็ตาม เเม้ว่าศาลสูงสุดของอินเดียจะเข้าเเทรกแซงในเรื่องนี้ คุณ Tahir Mahmood ผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายอิสลามกล่าวว่า ตนไม่เชื่อมั่นกับการเร่งแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วด้วยการรณรงค์ห้ามการหย่าร้างด้วยคำพูด เนื่องจากเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาล เขากล่าวว่าชุมชนมุสลิมในอินเดียที่เชื่อฟังคำสอนของบรรดาครูสอนศาสนาอิสลามยังไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนเเปลงนี้
และเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขุ่นเคืองต่ออิหม่ามและกลุ่มมุสลิมที่มีอิทธิพลในประเทศ บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลอินเดียต่างตีตัวออกห่างจากประเด็นที่ละเอียดอ่อนนี้
ชาวมุสลิมเป็นคนกลุ่มน้อยทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย โดยถือเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศ และเป็นฐานเสียงทางการเมืองสำคัญแก่พรรคการเมืองหลายพรรคในอินเดีย
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)