เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ผู้กระทำผิดที่อายุน้อยที่สุดในผู้กระทำผิดทั้งหมด 6 คนในคดีร้ายแรงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำผู้เยาว์ หลังจากสิ้นสุดการจองจำ 3 ปีตามคำสั่งศาล
ต่อข้อร้องเรียนจากกลุ่มสิทธิสตรีในอินเดีย ศาลฏีกาของอินเดียชี้แจงว่าไม่สามารถขยายระยะเวลาจองจำผู้ต้องโทษคนนี้ออกไปได้อีก เพราะเขาก่อคดีตอนอายุ 17 ปีซึ่งถือเป็นผู้เยาว์และจำคุกได้สูงสุดแค่ 3 ปีตามกฏหมายอินเดีย โดยได้มอบตัวอดีตนักโทษผู้เยาว์คนดังกล่าวให้อยู่ในการดูแลของหน่วยงานการกุศลแห่งหนึ่งและไม่สามารถเปิดเผยชื่ออดีตนักโทษคนนี้ได้
อิสรภาพของอดีตผู้ต้องขังคนนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่พ่อแม่ของเหยื่อและประชาชนทั่วไป ที่เรียกร้องให้เพิ่มการลงโทษผู้กระทำผิดคนดังกล่าวให้หนักกว่าแค่จำคุกสามปี เพราะก่อคดีอุกฉกรรจ์ในขณะที่ผู้กระทำผิดคนอื่นๆ ถูกสั่งจำคุกตลอดชีวิต
ผู้ประท้วงชี้แจงว่าผู้ต้องหาผู้เยาว์คนนี้เเม้ว่าจะอายุน้อยที่สุดในชายทั้งหกคน แต่เป็นคนใช้ท่อนเหล็กทุบตีเหยื่ออย่างโหดเหี้ยมทารุณก่อนทำร้ายเหยื่อทางเพศ จึงไม่สมควรได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากเป็นอันตรายแก่ผู้หญิงทั่วไป
กรณีนี้นำไปสู่การต่อสู้กันในตัวบทกฏหมาย สภาล่างของอินเดียได้ผ่านข้อเสนอให้ปรับปรุงกฏหมายที่อนุญาตให้ผู้เยาว์ที่กระทำผิดในคดีร้ายแรงที่อายุระหว่าง 16-18 ปีถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อไต่สวนและลงโทษในฐานะที่เท่าเทียมกับผู้ใหญ่
แต่สภาสูงของประเทศยังไม่นำร่างกฏหมายที่สภาล่างผ่านแล้วนี้ขึ้นถกเพราะสภาสูงเจอกับแรงคัดค้านจากฝ่ายค้านมาหลายวันแล้ว
คุณ Swati Milawal ประธาน Delhi Commission for Women ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องแก่ศาลสูงให้ขยายเวลากักตัวผู้ต้องโทษคนนี้ ได้ประณามสภาสูงของอินเดียที่ยังไม่อนุมัติร่างกฏหมายนี้ เธอกล่าวว่าจำเป็นที่ผู้หญิงต้องพากันออกไปประท้วงต่อเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี บรรดานักรณรงค์ด้านสิทธิเยาวชนชี้ว่า มีคดีข่มขืนและฆาตกรรมที่ผู้เยาว์ที่เป็นผู้กระทำผิดเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกรณีที่ได้รับรายงานทั้งหมดเท่านั้น พวกเขาเห็นว่าร่างกฏหมายใหม่จะส่งผลเสียกับความยุติธรรมแก่ผู้เยาว์ในอินเดีย ซึ่งผู้กระทำผิดที่อายุน้อยส่วนมากเป็นเด็กยากจน ไม่ได้รับการศึกษา และในหลายๆ กรณีเด็กเหล่านี้ต้องหาเลี้ยงชีพตัวเอง
แต่แม้ว่าจะมีเสียงเตือนถึงผลเสียจากการปรับอายุผู้ต้องหาวัยเยาว์ให้น้อยลง ความโกรธเคืองต่อเรื่องนี้ยังไม่สร่างซา บรรดากลุ่มผู้ประท้วงและครอบครัวของเหยื่อประกาศว่าจะยังเดินหน้าเรียกร้องเรื่องนี้ต่อไป เพื่อให้อินเดียมีกฏหมายที่รัดกุมกว่าเดิม
และเพื่อปรับปรุงให้อินเดียเป็นประเทศที่ผู้หญิงรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น
(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)