หลายเมืองในอเมริกาประสบปัญหาเศรษฐกิจซบเซามาตั้งแต่ช่วงวิกฤติการเงินเมื่อปี ค.ศ. 2008 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประสบภาวะยากลำบาก ห้างร้านต่างๆ ปิดตัวลงจำนวนมาก รวมทั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง
แต่เวลานี้ ธุรกิจห้างร้านต่างๆ ในบางพื้นที่กำลังฟื้นตัวกลับมา ด้วยความช่วยเหลือส่วนใหญ่ที่มาจากคนต่างด้าวและผู้ลี้ภัย
ห้างสรรพสินค้า Northland Mall บนถนนมอร์ส ในเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ ซึ่งเป็นหนึ่งในห้างสรรพสินค้าที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองโคลัมบัส คือตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบจากวิกฤติการเงินในอเมริกาที่เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 2008
ร้านรวงต่างๆ ทยอยถอนตัวออกจากห้าง จนในที่สุดห้างขนาดใหญ่นี้ต้องปิดกิจการ ทำให้ย่านธุรกิจบนถนนมอร์สที่เคยรุ่งเรือง ต้องกลายเป็นเมืองร้าง ขณะที่การก่ออาชญากรรมในบริเวณนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เทศบาลเมืองโคลัมบัสต้องยื่นมือเข้าช่วย ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา และเสนอแรงจูงใจด้านภาษีเพื่อให้มีผู้เข้ามาลงทุนทำธุรกิจในย่านที่เริ่มเสื่อมโทรมนี้
แต่ดูเหมือนความช่วยเหลือจะมาจากกลุ่มที่เทศบาลเมืองโคลัมบัสมิได้คาดหมายไว้ นั่นคือ ผู้อพยพเข้าเมือง ผู้ลี้ภัย และคนต่างด้าว
กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลียพากันรวมตัวเปิดร้านค้าเล็กๆ และร้านอาหารในบริเวณไม่ไกลจาก Northland Mall เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยเริ่มกลับมาลงทุนเปิดร้านบนถนนมอร์ส พื้นที่รอบๆ เริ่มกลายเป็นแหล่งช็อปปิ้งอีกครั้ง และยังเป็นสถานที่ที่คนในชุมชนมารวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ดูเหมือนชีพจรธุรกิจบนถนนเส้นนี้เริ่มกลับมาแล้ว
เมืองโคลัมบัสมีชุมชนชาวโซมาเลียขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในอเมริกา คุณอาเหม็ด โอ ฮาจิ ชาวโซมาเลียเจ้าของร้านแห่งหนึ่งบนถนนมอร์ส บอกว่า ผู้ลี้ภัยจำนวนมากมาพร้อมทักษะด้านการทำธุรกิจ และสามารถเปิดร้านได้โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล และก็ไปได้ดีเสียด้วย
อย่างไรก็ตาม คุณฮาจิ กล่าวว่า ตั้งแต่ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มมีนโยบายกีดกันผู้ลี้ภัยจาก 6 ประเทศ รวมทั้งโซมาเลีย ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ดูเหมือนธุรกิจของชาวโซมาเลียในแถบนี้ก็ซบเซาลงอย่างมาก
และไม่ใช่แค่ผู้ลี้ภัยที่มาจากตะวันออกกลางและแอฟริกาเท่านั้นที่พยายามหาทางสร้างชีวิตใหม่ในอเมริกา แต่คนต่างด้าวจากทางอเมริกาใต้และเอเชียก็นำความรู้ความสามารถทางธุรกิจและเงินลงทุนมาด้วยเช่นกัน
คุณจอห์น ซุง ซึ่งอพยพมาจากเกาหลีใต้ เปิดซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่บนถนนมอร์สเมื่อ 4 ปีก่อน วางขายสินค้าประเภทอาหารจากทั่วโลก และจ้างพนักงานราว 80 คน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนต่างด้าวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้
ข้อมูลจากเทศบาลเมืองโคลัมบัสระบุว่า ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2007 – 2012 มีเจ้าของธุรกิจที่เป็นคนต่างด้าวเพิ่มขึ้นในเมืองโคลัมบัสราว 41.5% ขณะที่เจ้าของธุรกิจที่เป็นพลเมืองอเมริกันโดยกำเนิด มีจำนวนลดลงราว 1.2% ในช่วงเดียวกัน
ข้อมูลยังบอกด้วยว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากคนต่างด้าวในเมืองโคลัมบัส มีมูลค่าราว 1,600 ล้านดอลลาร์ และมีการจ้างงานราว 23,000 คน
(ผู้สื่อข่าว June Soh รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)