ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘ไอเออีเอ’ เผย ยูเครน-รัสเซีย หนุนสร้างพื้นที่พิเศษรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์


A security person stands in front of the Zaporizhzhia nuclear power plant, amid the ongoing Russian military action in Ukraine, Sept. 11, 2022.
A security person stands in front of the Zaporizhzhia nuclear power plant, amid the ongoing Russian military action in Ukraine, Sept. 11, 2022.

หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบนิวเคลียร์ขององค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า ยูเครนและรัสเซีย แสดงความสนใจในข้อเสนอของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ให้มีการสร้างโซนป้องกันรอบ ๆ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในเมืองซาปอริห์เชียที่กองกำลังรัสเซียยึดครองไว้อยู่

ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการใหญ่ IAEA เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงเวียนนา ในวันจันทร์ด้วยว่า ทั้งยูเครนและรัสเซียได้ทำงานร่วมกับทางสำนักงานฯ มาตลอดและมีคำถามมากมายเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้มีกิจกรรมทางทหารใกล้ ๆ กับโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เช่น การยิงถล่มด้วยปืนใหญ่ทิ่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายให้กับสายส่งไปแล้ว

ทั้งนี้ รัสเซียทำการยึดครองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี้ได้หลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สั่งกองทัพให้รุกเข้ายูเครน แม้จะไม่มีการยั่วยุจากกองกำลังกรุงเคียฟ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์

ความเห็นของ กรอสซี มีออกมาหนึ่งวันหลังบริษัท เอเนอร์โฮอะตอม (Enerhoatom) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของยูเครนที่รับผิดชอบดูแลโรงไฟฟ้านี้ เปิดเผยว่า เตาปฏิกรณ์ปรมาณูตัวสุดท้ายของที่นี่ถูกปิดลงไปแล้วตามมาตรการด้านความปลอดภัย

นอกจากนั้น IAEA ระบุว่า เปิดทำการสายส่งพลังงานสำรองของโรงไฟฟ้าแล้ว เพื่อนำส่งไฟฟ้าไปทำการปิดเตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่ว่า พร้อม ๆ กับดำเนินการป้องกันความเสี่ยงของเหตุหลอมละลายนิวเคลียร์ด้วย

เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ทางการยูเครนเรียกร้องให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รอบ ๆ โรงไฟฟ้านี้ให้อพยพออกมาเพื่อความปลอดภัยของตน

รายงานข่าวระบุว่า ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง บอกกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ระหว่างการพูดคุยทางโทรศัพท์เมื่อวันอาทิตย์ว่า การที่กองกำลังทหารรัสเซียยึดครองโรงไฟฟ้านั้นคือ เหตุผลที่ระบบความมั่นคงของตัวโรงไฟฟ้าเสียหาย ขณะที่ ทำเนียบเครมลินระบุในแถลงการณ์ว่า ปธน.ปูติน โทษกองกำลังยูเครนว่าเป็นสาเหตุดังกล่าว

การสู้รอบรอบ ๆ พื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริห์เชียนั้นทำให้เกิดความกลัวกันว่า จะนำไปสู่เหตุหายนะทางนิวเคลียร์ครั้งใหม่ได้

โดยที่ผ่านมา รัสเซียกล่าวหายูเครนว่า พยายามใช้กำลังเพื่อยึดตัวโรงไฟฟ้ากลับคืน ซึ่งทางกรุงเคียฟปฏิเสธมาตลอด ขณะที่ ยูเครนและชาติตะวันตกกล่าวหารัสเซียว่า ส่งอาวุธหนักเข้าไปตั้งในพื้นที่ดังกล่าวเพราะทราบดีว่า ฝั่งยูเครนจะไม่ยิงเข้าใส่ แต่กรุงมอสโกปฏิเสธคำกล่าวหาที่ว่านี้ พร้อม ๆ กับยืนยันไม่สนใจความพยายามที่จะทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นเขตปลอดทหารเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุหายนะครั้งใหญ่

  • ข้อมูลบางส่วนมาจาก เอเอฟพี เอพีและรอยเตอร์
XS
SM
MD
LG