นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในอเมริกาใต้หลายคนเชื่อว่า การที่รัสเซียส่งเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปในเวเนซูเอลาในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ เพื่อเป็นการรับรองว่าระบบต่อต้านขีปนาวุธ เอส-300 ของรัสเซียที่ประจำการอยู่ในเวเนซูเอลาตั้งแต่ 10 ปีก่อน ยังสามารถใช้งานได้ดี ในกรณีที่ต้องนำมาใช้ต่อต้านการรุกรานทางทหารจากสหรัฐฯ
มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ทหารรัสเซียราว 100 คน ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการโจมตีทางอากาศ ได้เดินทางเข้าไปยังเวเนซูเอลาเมื่อปลายเดือนมีนาคม เพื่อตรวจสอบว่าระบบต่อต้านขีปนาวุธ เอส-300 ยังใช้งานได้ดี หลังจากที่เวเนซูเอลาเผชิญปัญหาไฟดับหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา
และไม่นานนี้ กองทัพเวเนซูเอลาได้นำขีปนาวุธ เอส-300 มาแสดงในการเดินสวนสนามด้วย โดยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมของอิสราเอล และจากผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ระบุว่า ยานพาหนะบรรทุกแบตเตอรี เอส-300 อย่างน้อย 4 คัน ได้ถูกนำไปประจำการตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ของเวเนซูเอลาในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพื่อปกป้องฐานทัพทหารและอาคารรัฐบาลสำคัญต่างๆ
เวเนซูเอลาติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ เอส-300 เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้ออาวุธมูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์ที่อดีตประธานาธิบดี ฮิวโก้ ชาเวซ ทำไว้กับรัสเซีย
โดยนอกจาก เอส-300 แล้ว เวเนซูเอลายังซื้อเครื่องบินรบ ซูโคย เอสยู-30, รถถัง ที-72 และเรือรบตอร์ปิโด โคมาร์ รวมทั้งโรงงานประกอบปืนไรเฟิล เอเค-103 ของรัสเซียด้วย
ไนเจล อิงสเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจาก International Institute for Strategic Studies ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า
"เอส-300 คือหนึ่งในระบบต้านขีปนาวุธ ที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งมีสองเหตุผลที่รัสเซียต้องการให้เวเนซูเอลาใช้งาน เอส-300 หนึ่งคือเพื่อท้าทายอำนาจทหารของสหรัฐฯ และสองคือเพิ่มต้นทุนของสหรัฐฯ หากว่าคิดจะใช้กำลังทหารรุกรานเวเนซูเอลา"
ขณะที่ โฮเซ่ มารูลันด้า เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของโคลัมเบีย และผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทหารในอเมริกาใต้ เชื่อว่า นอกจากส่งแบตเตอรีของ เอส-300 ชุดใหม่อย่างน้อย 4 ชุดมาให้เวเนซูเอลาแล้ว รัสเซียยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ราว 100 คนไปยังกรุงคาราคาส เพื่อช่วยในการตกแต่งฟื้นฟูระบบต้านขีปนาวุธนี้เสียใหม่ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ระบบ เอส-300 ซึ่งเคลื่อนที่ได้ด้วยยานพาหนะขนาดใหญ่และติดตั้งระบบเรดาร์นำทางอัตโนมัติ สามารถยิงต่อสู้จรวดนำวิถี เครื่องบินรบและโดรนต่างๆ ได้ รวมทั้งยังมีระบบแยกเป้าหมายจริงออกจากเป้าหมายปลอมได้ด้วย
ขีปนาวุธของ เอส-300 มีระยะทำการ 200 กิโลเมตร แต่เชื่อว่ารุ่นที่ปรับปรุงใหม่สามารถยิงได้ไกลกว่าเดิมราวสองเท่า
ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ติดตั้งระบบนี้ รวมทั้ง อิหร่านและซีเรีย ขณะที่ตุรกีกำลังเจรจากับรัสเซียเพื่อขอซื้อระบบต้านขีปนาวุธรุ่นใหม่กว่า เอส-300 คือ เอส-400
ศาสตราจารย์ เอวาน เอลลิส แห่ง Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า แม้การเดินเกมล่าสุดของรัสเซียอาจมีผลให้สหรัฐฯ ต้องหยุดคิดหากกำลังวางแผนใช้ทหารแทรกแซงความวุ่นวายทางการเมืองในเวเนซูเอลา แต่ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นการทำให้สถานการณ์กลับตาลปัตรแต่อย่างใด
นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ด้วยว่า ก่อนหน้านี้ กองทัพสหรัฐฯ สามารถหาทางเลี่ยงระบบ เอส-300 เพื่อโจมตีทางอากาศแบบเฉพาะเจาะจงใส่ซีเรียมาแล้ว และอาจสามารถทำแบบเดียวกันได้ หากต้องการใช้กำลังทหารกับเวเนซูเอลาจริงๆ