นายพิรุณ เพียรล้ำเลิศ อัครราชทูตฝ่ายการศึกษา สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงวอชิงตัน ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ภาคภาษาไทย เกี่ยวกับข้อมูลด้านการเรียนของทันตแพทย์หญิง ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเคยอยู่ในความดูแลของสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทย ระหว่างที่ได้รับทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก ระหว่างปีพุทธศักราช 2537-2546 ที่มหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดัง ที่เมือง เมดฟอร์ด บริเวณชานเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์
รายงานส่วนบุคคลจากสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทย ระบุว่า ทันตแพทย์หญิงดลฤดี พยายามขอยืดเวลาศึกษาต่อหลังปริญญาเอกออกไป แต่ไม่ได้รับการอนุมัติจากต้นสังกัด จึงแจ้งความจำนงขอลาออกราชการในระยะเวลาไม่นานหลังสำเร็จการศึกษา
“จากแฟ้มข้อมูลพบว่าหลังจาก ทพญ.ดลฤดี เคยขอขยายเวลาการศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกมา 2 ครั้งแล้ว และหลังจบปริญญาเอก สำนักงานฯ ก็ได้รับการติดต่อเพื่อที่จะขอทำโครงการวิจัยระดับหลังปริญญาเอก (Post - Doctoral Fellowship) แต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ กพ. ที่จะสามารถอนุมัติได้ และไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะให้ทำวิจัยต่อได้ แม้ทางมหาวิทยาลัยมหิดลต้นสังกัดจะมีมติยินยอมให้ทำได้ในระยะเวลา 1 ปีก็ตาม ซึ่งในที่สุดนักเรียนทุนก็ทำเรื่องขอลาออกจากราชการเมื่อราวๆ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2546”
อัครราชทูตฝ่ายการศึกษาที่กรุงวอชิงตัน ย้ำว่าที่ผ่านมาสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทย พยายามทำหน้าที่สื่อสารพูดคุยกับนักเรียนทุนไทยตลอดเวลาเพื่อรับทราบปัญหา แลกเปลี่ยนทัศนคติ และย้ำถึงความสำคัญของทุนการศึกษาที่แต่ละคนได้รับ
(ติดตามบทสัมภาษณ์ความรู้สึกและผลกระทบที่เกิดขึ้น จากบางส่วนของนักเรียนทุนไทยที่กำลังศึกษาในสหรัฐอเมริกา หลังเกิดกรณีทันตแพทย์หญิง อดีตนักเรียนทุนผิดสัญญาไม่กลับไปใช้ทุนและสร้างภาระหนี้สินให้กับผู้ค้ำประกันที่เมืองไทยจนกลายเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจในช่วงที่ผ่านมา ในตอนต่อไป)