มีความหวังว่าเทคโนโลยีใหม่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหาทางป้องกันตัวเองจากโรคหัวใจที่จะคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
ปกติเเล้วภาพแสกน CT หัวใจนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถระบุได้ว่า คนไข้มีหลอดเลือดหัวใจที่กำลังตีบตันตรงจุดใดบ้างเท่านั้น
คาราแลมบอส แอนโตเนียเดส นักวิจัยในอังกฤษ กล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่นี้ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้มากกว่านั้น โดยสามารถบอกได้ว่าผนังหลอดเลือดยังไม่เกิดการตีบตันจนน่าเป็นห่วง เเต่ผนังหลอดเลือดมีอาการอักเสบ ซึ่งทำให้หลอดเลือดเสี่ยงที่จะตีบหรืออุดตันในอนาคต
ดังนั้นคนไข้จึงควรหาทางป้องกันโรค อาจจะด้วยการกินยาหรือเพิ่มปริมาณยาเพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดการก่อตัวของคราบในหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดตีบตันเเละเกิดอาการหัวใจวาย
ทีมนักวิจัยกล่าวว่า การระบุได้เเต่เนิ่นๆ ว่าเกิดการอับเสบขึ้นบริเวณหลอดเลือดหัวใจ ถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญในการป้องกันอาการหัวใจวาย
นักวิจัยกล่าวว่า กุญแจสำคัญของการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดเเละหัวใจคือการตรวจหาอาการอักเสบของหลอดเลือดหัวใจ เพราะการตรวจนี้เป็นสิ่งที่วงการแพทย์พยายามค้นหามานานตลอด 50 ปีที่ผ่านมา
และหากสามารถระบุได้ว่ามีอาการอักเสบในหลอดเลือด แพทย์ก็จะสามารถบอกได้ว่าหลอดเลือดหัวในจุดใดที่อาจจะก่อให้เกิดคราบอุดตันในหลอดเลือด เกิดโรคหัวใจเเละหลอดเลือดหัวใจเส้นไหนที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดหัวใจวาย
ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด เชื่อว่า ผลงานการวิจัยของทีมงานนี้จะสามารถช่วยวินิจฉัยคนมีความที่เสี่ยงที่จะล้มป่วยด้วยอาการหัวใจวายในอนาคตได้ราว 30,000 คนต่อปี
นักวิจัยกล่าวว่า ในอังกฤษ มีคนเกิดอาการหัวใจวายปีละ 100,000 คน เเละเทคโนโลยีใหม่นี้มีศักยภาพในการช่วยระบุได้ล่วงหน้าราวร้อยละ 20 - 30 ของคนที่เข้ารับการตรวจว่าอาจเกิดอาการหัวใจวายในอนาคต
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)