นักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถทำนายการเกิดอาการหัวใจวายได้ก่อนที่จะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาหลายปี
นักวิจัยรายงานโดยใช้ขั้นตอนทางคณิตศาสตร์เพื่อตรวจสอบภาพรังสีโทโมกราฟฟีค หรือภาพถ่ายหัวใจของผู้ป่วยด้วยเครื่อง CT scan ใช้การฉายแสง และคอมพิวเตอร์ เพื่อดูรายละเอียดของกระดูก อวัยวะ และเนื้อเยื่ออื่นๆ ภายในร่างกาย
วิธีการใหม่นี้ได้รับการพัฒนาโดยนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ รายงานการศึกษาวิจัยของพวกเขาถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ The Lancet โดยได้รับความร่วมมือจากทีมงานจากมหาวิทยาลัย Friedrich-Alexander ที่เมือง Erlangen ประเทศเยอรมนี และ Cleveland Clinic ในสหรัฐอเมริกา
อาการหัวใจวายส่วนใหญ่เกิดจากการสะสมตัวของไขมันภายในหลอดเลือดแดงที่นำเลือดจากหัวใจไปหล่อเลี้ยงบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย การสะสมตัวของไขมันที่มากเกินไป อาจกีดขวางการไหลเวียนโลหิตและทำให้เกิดอาการหัวใจวายได้
ปัจจุบันแพทย์ใช้เครื่อง CT Scans เพื่อตรวจสอบดูว่ามีสารเหนียวที่เรียกว่าหินปูน ก่อตัวขึ้นภายในหลอดเลือดแดงหรือไม่
โดยเทคโนโลยีใหม่นี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อคาดการณ์ว่าหลอดเลือดแดงเส้นไหนที่มีความเสี่ยงต่อการสะสมหินปูนในอนาคต
นักวิจัยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ตรวจสอบผลจากภาพถ่ายจากเครื่อง CT scan เพื่อดูปริมาณไขมันที่อยู่รอบๆ หลอดเลือดหัวใจ ไขมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อหลอดเลือดแดงอักเสบ ซึ่งจะเป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับการเกิดอาการหัวใจวายได้
คุณ Charalambos Antoniades ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์หัวใจที่มหาวิทยาลัย Oxford บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เขาเชื่อว่างานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าวิธีนี้อาจมีประสิทธิภาพอย่างมากในการช่วยผู้ป่วยให้สามารถป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
กล่าวคือ หากหลอดเลือดแดงมีการอักเสบและหดตัวลง จะพัฒนาอาการต่างๆ ภายในระยะเวลาห้าปี ดังนั้นบางทีผู้ป่วยอาจจะสามารถเริ่มต้นมาตรการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการก่อตัวของหินปูนเหล่านี้ได้
และหากสามารถระบุการอักเสบในหลอดเลือดแดงของหัวใจได้ ก็จะสามารถบอกได้ว่าหลอดเลือดแดงเส้นใดที่จะเป็นสาเหตุของการเกิดอาการหัวใจวาย
คุณ Antoniades กล่าวเพิ่มเติมว่า นักวิจัยยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า วิธีนี้จะสามารถป้องกันการเกิดอาการหัวใจวายได้มากน้อยแค่ไหน แต่เขาเชื่อว่าเทคนิคนี้สามารถช่วยระบุผู้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจวายได้ 20-30 เปอร์เซนต์
และว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะทำให้การคาดการณ์ดังกล่าวง่ายดายยิ่งขึ้น เนื่องจากทำงานร่วมกับเทคโนโลยี CT ที่มีอยู่แล้ว