อเมริกามีกฎหมายอนุญาตให้ลางานเพื่อไปดูแลสมาชิกครอบครัวที่เจ็บไข้ได้ป่วยได้ แต่กฎหมายที่ว่านี้ไม่ครอบคลุมไปถึงสัตว์เลี้ยงด้วย ถึงกระนั้นในทางปฏิบัติ ธุรกิจและที่ทำงานต่างๆ เริ่มมีความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์เลี้ยงกับมนุษย์มากขึ้น
บทความในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal กล่าวถึงรายงานเรื่องเจ้าของกับการสูญเสียสัตว์เลี้ยง ซึ่งศึกษาเจ้าของสัตว์เลี้ยง 106 ราย ในปีค.ศ. 2009 และตีพิมพ์ไว้ใน Bulletin of the Menninger Clinic ซึ่งระบุว่าหนึ่งในสามของคนเหล่านี้ รู้สึกเศร้าโศกเสียใจเป็นเวลาอย่างน้อยหกเดือนหลังจากสัตว์เลี้ยงตายไป
ราวๆ 20% รู้สึกตกใจ ไม่เชื่อ แม้กระทั่งรู้สึกผิดหรือโกรธ เหมือนกับว่าได้สูญเสียคนที่รักใคร่ไป บางคนอาจมีอาการเศร้าซึม หรือรู้สึกสูญเสียความหมายในชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่อยู่คนเดียวหรือไม่มีลูก
ซึ่งการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่า มีคนประเภทนี้มากขึ้นในอเมริกา จากราวๆ 17% เมื่อ 45 ปีที่แล้ว มาเป็น 27% ในขณะนี้
ธุรกิจบางรายอย่างบริษัท Kimpton Hotels & Restaurants ในนคร San Francisco อนุญาตให้ลูกจ้างพนักงานที่สูญเสียสัตว์เลี้ยง ลางานได้ 3 วัน และยังอนุญาตให้พนักงานนำสัตว์เลี้ยงไปที่ทำงาน รวมทั้งจัดการประกันสุขภาพสัตว์เลี้ยงให้ด้วย
ยังมีธุรกิจอีกหลายรายที่อนุญาตให้พนักงานลางานเพื่อพาสัตว์เลี้ยงไปหาหมอ หรืออยู่บ้านเพื่อดูแลสัตว์เลี้ยงที่เจ็บป่วย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ออกมายึดถือปฏิบัติในเรื่องสัตว์เลี้ยง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่นายจ้างจะตัดสินใจเอง
บทความของ Wall Street Journal ยังวิเคราะห์ผลกระทบของความรู้สึกผูกพันระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยงต่อการทำงานของลูกจ้างพนักงานไว้ด้วย
บางรายต้องลาพักงานเพื่อไปสงบใจ บางรายใช้การทำงานเป็นเครื่องช่วยคลายความเศร้าโศกเสียใจ และก็มีที่หาสัตว์เลี้ยงใหม่มาแทนที่
ที่ค่อนข้างใหม่คือ นักจิตบำบัดอย่าง ดร. Sandra Grossman ของ PetLoss Partners ในนคร Los Angeles และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มสนับสนุนผู้ประสบกับการสูญเสียสัตว์เลี้ยงขึ้นมาด้วย
กล่าวได้ว่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยงเป็นที่ยอมรับมากขึ้นว่า สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขและแมว เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว หรือของชีวิตเรา