ศาลสูงของสหรัฐฯ มีคำวินิจฉัยมติอนุมัติว่า รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายกรีนการ์ด ใบเขียว โดยพิจารณาประเด็นการพึ่งพาสวัสดิการของรัฐ ซึ่งอาจทำให้คนจำนวนมากที่ยื่นเรื่องขอสถานะดังกล่าวหมดสิทธิ์ไปโดยปริยาย
ศาลสูงฯไฟเขียว นโยบายจำกัดการออก 'กรีนการ์ด'
รัฐบาลนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดตัวนโยบายนี้มาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว และตั้งใจจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมปีที่แล้ว (พ.ศ.2562) แต่ถูกระงับไว้ภายใต้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในรัฐนิวยอร์ค เพราะมีผู้ไม่เห็นด้วยและได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลหลายแห่งทั่วประเทศ ก่อนที่ศาลสูงจะรับพิจารณาและกลับคำตัดสินของศาลชั้นต้น ในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2563
ประเด็นสำคัญของนโยบายนี้คือ การขอบเขตการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นเรื่องขอกรีนการ์ด (สถานะการพำนักอาศัยและทำงานอย่างถาวรในสหรัฐฯ) โดยให้ดูว่าผู้ยื่นเรื่องมีการขอรับความช่วยเหลือภายใต้โครงการสวัสดิการใดๆ ของรัฐบ้าง ซึ่งหมายถึงโอกาสที่จะทำให้ผู้ที่ได้รับสวัสดิการเหล่านั้นไม่มีคุณสมบัติที่จะได้ใบเขียว ในที่สุด
บทสรุปของการพิจารณานี้คือ การดูว่าผู้ยื่นคำร้องเป็นหรือจะกลายมาเป็นภาระของรัฐบาลหรือประเทศ หรือที่เรียกว่า ' Public Charge' แค่ไหน โดยผู้ที่ได้รับสวัสดิการจากโครงการของรัฐ 1 โครงการขึ้นไป เป็นเวลานานกว่า 12 เดือนในช่วงเวลา 36 เดือนที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ จะถือว่าเป็น Public Charge และจะไม่สามารถขอกรีนการ์ดได้ และหากได้รับสวัสดิการจากสองโครงการภายใน 1 เดือน จะถูกนับรวมเป็น 2 เดือนด้วย
นิยามของคำว่า Public Charge
ในการพิจารณาภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่นี้ ว่าผู้ยื่นคำร้องเป็น Public Charge หรือไม่ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพลเมืองสหรัฐฯ และคนต่างด้าว หรือ USCIS จะต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ทั้งในเรื่องของสวัสดิการสังคม การศึกษา รายได้ครัวเรือน และสุขภาพ เพื่อตัดสินใจว่าจะให้กรีนการ์ดต่อผู้ที่สมัครคนนั้นหรือไม่ เป็นกรณีไป
ขณะเดียวกัน คำนิยามของคำว่า Public Charge ที่ USCIS โพสต์ไว้ในเว็บไซด์ระบุว่า คำนี้หมายถึงบุคคลที่น่าจะต้องพึ่งพารัฐบาลเป็นหลัก เพื่อดำรงชีพ ไม่ว่าจะโดยรับเงินช่วยเหลือ หรือการเข้ารับการรักษาหรือดูแลโดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่าย
"ขณะที่การพิจารณาเงื่อนไขนี้สำหรับคนต่างด้าว จะคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น อายุ สุขภาพ สถานภาพทางครอบครัว สินทรัพย์ ทรัพยากรส่วนบุคคล สถานภาพทางการเงิน การศึกษา และทักษะต่างๆ ก่อนที่จะสรุปได้ว่า บุคคลคนหนึ่งเป็น Public Charge หรือไม่"
แต่รายงานว่า การพิจารณาอนุมัติใบเขียวนั้น จะดูที่การใช้สวัสดิการต่างๆ ของรัฐบาล อาทิ สวัสดิการประกันสุขภาพผู้มีรายได้ต่ำ (Medicaid) โครงการอาหาร และที่อยู่อาศัย ขัดแย้งกับข้อมูลในเว็บไซด์ของ USCIS ที่ระบุ สวัสดิการหลายรายการ รวมทั้ง 3 รายการที่กล่าวมาข้างต้นไม่สามารถถูกนำมาพิจารณาเรื่องของ Public Charge ได้
จุดนี้เองที่ผู้โต้แย้งนโยบายออกมาคัดค้านและฟ้องศาล ซึ่งส่งผลให้ศาลออกคำสั่งระงับการดำเนินนโยบายนี้ นิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย โอเรกอน เมน เพนซิลเวเนีย และวอชิงตัน ดีซี เป็นต้น
ศาลสูงพิพากษา ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4
สิ่งที่น่าสนใจในคำตัดสินล่าสุดของศาลสูงที่ยกเลิกคำสั่งระงับการใช้นโยบายทั่วประเทศ ยกเว้นที่รัฐอิลลินอยส์ ที่การฟ้องร้องนโยบายนี้เป็นคนละคดี คือ การที่ผู้พิพากษาเสียงแตก โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ขณะที่ ผู้พิพากษา 4 คนมองว่าควรระงับนโยบายนี้ไปก่อน อีก 5 คนเห็นว่ารัฐควรดำเนินนโยบายนี้ ซึ่งเป็นสายอนุรักษ์นิยม ที่รวมถึง หัวหน้าผู้พิพากษาของคณะตุลาการศาลสูงสหรัฐฯ จอห์น โรเบิร์ต ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลกระบวนการพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์อยู่ในเวลานี้ รวมทั้งผู้พิพากษาอีก 2 คนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีทรัมป์ด้วย
ผลกระทบของคำพิพากษาศาลสูง
ปัจจุบัน มีผู้ยื่นคำร้องขอใบเขียวปีละประมาณ 544,000 คน ขณะที่ข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า คำร้องของประมาณ 382,000 คนอยู่ในข่ายที่จะต้องได้รับการพิจารณาภายใต้นโยบายสกัดกั้นล่าสุดนี้
และขณะที่คดีฟ้องร้องหลายคดีเพื่อคัดค้านนโยบายใหม่นี้ยังเดินหน้าอยู่ในกระบวนการศาล คำพิพากษาล่าสุดของศาลสูง มีผลให้คนต่างด้าวที่ยื่นเรื่องของใบเขียนอยู่ต้องแสดงหลักฐานว่า ตนไม่ได้พึ่งพาสวัสดิการรัฐ หรือเป็นภาระของสหรัฐฯ
นอกจากคำยืนยันของผู้ยื่นคำร้องแล้ว ทางการสหรัฐฯ ยังมีอำนาจพิจารณาความน่าจะเป็นว่าผู้ยื่นคำร้องนี้มีโอกาสกลับมาเป็นภาระของรัฐในอนาคตหรือไม่ เพราะหากผู้พิจารณาประเมินว่ามีโอกาสสูง คำร้องขอใบเขียวของคนๆ นั้นก็อาจถูกปฏิเสธได้
เครื่องมือปฏิเสธคนต่างด้าว?
หลายฝ่ายมองว่า นโยบายนี้คือเครื่องมือของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ ในการปฏิเสธคำร้องขอใบเขียวของคนต่างด้าว และเป็นการผลักดันไปสู่ระบบการคัดกรองคนเข้าเมืองโดยพิจารณาที่ทักษะความรู้เป็นหลัก มากกว่าการให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน
นักวิจารณ์เกรงว่า กฎเกณฑ์ใหม่นี้จะยิ่งสกัดกั้นบรรดาคนต่างด้าวที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง และยังทำให้ผู้ถือกรีนการ์ดและผู้ที่ได้รับสถานะพลเมืองสหรัฐฯ ไม่กล้าไปขอรับสวสัดิการความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพราะเกรงว่าจะส่งผลให้พวกตนไม่ได้อยู่อาศัยในอเมริกาอีกต่อไป
ทั้งนี้ มีเพียงส่วนน้อยของคนที่พึ่งพาสวัสดิการรัฐ เป็นคนต่างด้าว เพราะสถานะการเป็นผู้อพยพเข้าเมืองของหลายคนทำให้ไม่มีคุณสมบัติที่จะรับสิทธิ์ดังกล่าวนั่นเอง