กูเกิล (Google) เผยความสำเร็จครั้งสำคัญในวงการคอมพิวเตอร์ควอนตัม หลังจากชิปควอนตัมรุ่นใหม่ “วิลโลว์” (Willow) โชว์พลังประมวลผลข้อมูลที่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ต้องใช้เวลา 10 ล้านล้านล้านล้านปี ได้ในเวลาเพียง 5 นาที
บริษัทเทคโนโลยี กูเกิล ระบุเมื่อวันจันทร์ว่า ชิปควอนตัมใหม่ วิลโลว์ สามารถประมวลผลอัลกอริทึมได้ภายในเวลาเพียง 5 นาที ในขณะที่คอมพิวเตอร์ทั่วไปต้องใช้เวลาถึง 10 เซพทิลเลียน (Septillion) ปี หรือ 10 ล้านล้านล้านล้านปี ซึ่งยาวนานกว่าอายุของจักรวาลหลายเท่า
นอกจากนี้ ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อวันจันทร์ ระบุว่า ทีม Google Quantum AI ของกูเกิล พบหนทางผนึกคิวบิตของชิปวิลโลว์ ที่มี 105 คิวบิต (Qubit) ซึ่งเป็นหน่วยประมวลผลพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ควอนตัม เพื่อให้อัตราความผิดพลาดลดลงเมื่อเพิ่มจำนวนคิวบิตเข้าไป อีกทั้งยังสามารถแก้ปัญหาความผิดพลาดได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการทำให้คอมพิวเตอร์ควอนตัมนำมาใช้งานได้จริง
ที่ผ่านมา บรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ทั้งไมโครซอฟท์ (Microsoft) ไอบีเอ็ม (IBM) และกูเกิล ต่างรุกอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ควอนตัม ที่ให้ความเร็วในการประมวลผลเหนือระบบที่มีในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ชิปควอนตัมที่มีจุดเด่นเรื่องความเร็วเหนือซูเปอร์คอมพิวเตอร์นี้ ยังติดปัญหาเรื่องความผิดพลาดได้ง่าย เนื่องจากชิปดังกล่าวอาจถูกกระทบจากอนุภาคขนาดเล็ก อย่างเช่น เหตุไม่คาดฝันในอวกาศได้ง่าย และนับตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยีนี้เมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1990 นักวิทยาศาสตร์ยังพยายามแก้ปัญหาเรื่องอัตราความผิดพลาดนี้อยู่ อีกทั้งชิปเหล่านี้ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบพิเศษเพื่อให้สามารถใช้งานได้
ทั้งนี้ เมื่อปี 2019 ไอบีเอ็ม ท้าทายคำเคลมของกูเกิลที่ว่าชิปควอนตัมสามารถแก้ปัญหาที่คอมพิวเตอร์ทั่วไปต้องใช้เวลานานถึง 10,000 ปี โดยระบุว่า โจทย์ดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ในเวลา 2 วันครึ่งด้วยคอมพิวเตอร์ทั่วไปหากใช้สมมติฐานทางเทคนิคที่แตกต่างกัน
ระหว่างที่โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ที่ขบแก้โดยแลบควอนตัมของกูเกิลรอบล่าสุด ไม่ได้นำไปใช้เชิงพาณิชย์ในเวลานี้ แต่กูเกิลหวังว่าวันหนึ่งกลศาสตร์ควอนตัมจะสามารถแก้ปัญหาด้านการแพทย์ การพัฒนาแบตเตอรีรถยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ที่คอมพิวเตอร์ปัจจุบันไม่สามารถทำได้
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น