ประเทศรายได้สูงกลุ่ม จี7 (Group of Seven) ร่วมกันตั้งเป้าหมายใหม่สำหรับการผลิตพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์ โดยตกลงกันเร่งการพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาด และลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกลุ่ม จี7 ที่ร่วมประชุมที่ญี่ปุ่น ยังไม่ร่วมสนับสนุนการกำหนดเส้นตายในปี ค.ศ. 2030 สำหรับการเลิกใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินทั้งหมดตามที่แคนาดาและสมาชิกอื่น ๆ เสนอ รวมทั้งยังเปิดโอกาสสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ โดยให้เหตุผลว่าจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงานได้
การประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม จี7 ในวาระเกี่ยวกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานและสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองซัปโปโร เป็นเวลาสองวัน สิ้นสุดลงเมื่อวันอาทิตย์ ที่ประชุมได้หารือกันเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและแหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนสืบเนื่องจากสงครามในยูเครน
รัฐมนตรีอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ยาสึโตชิ นิชิมูระ แถลงข่าวว่า "ท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่เราต้องมีมาตรการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานไปพร้อมกัน"
"ในขณะที่มีหลายแนวทางในการบรรลุเป้าหมายเรื่องการไม่ก่อก๊าซคาร์บอนเพิ่ม เราได้เห็นพ้องกันในประเด็นสำคัญว่าด้วยการกำหนดเป้าหมายนั้นภายในปี 2050" รัฐมนตรีนิชิมูระกล่าว
รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติแคนาดา โจนาธาน วิลกินสัน กล่าวว่า "เดิมทีผู้คนต่างคิดว่าการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงด้านพลังงานเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน แต่จากการหารือครั้งนี้และสิ่งที่สะท้อนอยู่ในแถลงการณ์ร่วมชี้ให้เห็นว่า ทั้งสองอย่างสามารถไปด้วยกันได้"
ในแถลงการณ์ร่วมของการประชุม ประเทศสมาชิกตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานจากลมนอกชายฝั่งอีก 150 กิกะวัตต์ และพลังงานจากแสงอาทิตย์มากกว่า 1 เทระวัตต์ ภายในปี ค.ศ. 2030 รวมทั้งเร่งลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้ลงไปอยู่ที่ระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050
รัฐมนตรีวิลกินสัน กล่าวกับรอยเตอร์ด้วยว่า แคนาดายังคงยึดมั่นกับข้อเสนอที่ให้ประเทศสมาชิก จี7 เลิกใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2030 ซึ่งอังกฤษและบางประเทศเห็นพ้องด้วย "ในขณะที่ประเทศอื่นกำลังพยายามขบคิดแนวทางเดินหน้าตามเป้าหมายดังกล่าวภายใต้เงื่อนเวลาที่วางไว้เช่นกัน"
- ที่มา: รอยเตอร์