หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป กล่าวในพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม จี7 (Group of Seven) ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยุโรปจะถูกตัดสินด้วยพฤติกรรมของรัฐบาลกรุงปักกิ่งในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้ง ไต้หวัน
ประเด็นเรื่องจีนกับไต้หวัน ถือเป็นส่วนสำคัญของการประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศกลุ่ม จี7 ที่ญี่ปุ่นในครั้งนี้ โดยญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศในเอเชียเพียงประเทศเดียวในกลุ่ม จี7 มีความกังวลต่อการขยายอิทธิพลของจีนในเอเชียแปซิฟิก
โจเซพ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป กล่าวว่า "อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นบริเวณช่องแคบไต้หวันจะมีความสำคัญต่อสหภาพยุโรปด้วย" พร้อมระบุว่า จีนเป็นทั้ง "หุ้นส่วน คู่แข่ง และคู่ปรับ" ซึ่งอียูจะเทน้ำหนักให้ความสัมพันธ์แบบไหนในสามแบบนี้ "ขึ้นอยูกับพฤติกรรมของจีนเอง"
บรรดารัฐมนตรีกลุ่ม จี7 เปิดการประชุมสามวันด้วยการร่วมรับประทานอาหารค่ำในวันอาทิตย์ และมีการหารือในประเด็นเกี่ยวกับอินโดแปซิฟิกเป็นหลัก โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจีน จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งที่ไม่ขอระบุชื่อ
เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวว่า "รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นยืนยันว่าการสานสัมพันธ์กับจีนต้องอาศัยความจริงใจและเปิดเผย ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศคนอื่น ๆ ล้วนเห็นด้วย" และเสริมว่ากลุ่ม จี7 ตกลงให้มีการใช้แนวทางสันติเพื่อจัดการประเด็นสถานะทางการเมืองของไต้หวัน
และคาดด้วยว่าจะมีการหารือกันว่าสมาชิก จี7 จะสานต่อ "วิธีที่สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันต่อจีน" ได้อย่างไร โดยแถลงการณ์ล่าสุดของ จี7 เรียกร้องให้ใช้การมีส่วนร่วมที่ตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ต่อรัฐบาลปักกิ่ง ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า "ประเทศสมาชิกแต่ประเทศในกลุ่ม จี7 ต่างมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งกับจีน"
รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี แอนนาเลนา แบร์บ็อค คือหนึ่งในผู้ที่เน้นย้ำความสำคัญของการเป็นหนึ่งเดียวกันภายในกลุ่ม จี7 โดยระบุว่า "ในฐานะประเทศประชาธิปไตย ความสำเร็จของเราในการแข่งขันกับอำนาจเผด็จการคือการที่พันธมิตรและหุ้นส่วนมีความเชื่อมั่นต่อเรา ดังนั้นมีจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเกิดความแตกแยกหรือมีรอยร้าวใหม่เกิดขึ้น"
ศาสตราจารย์โยชิอิโร ซาโตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัย Ritsumeikan Asia Pacific ชี้ว่า "สำหรับญี่ปุ่น การประชุม จี7 คือเวทีที่สามารถหยิบยกประเด็นด้านความมั่นคงอื่น ๆ มาพูดถึงได้ นอกเหนือไปจากยูเครน" และว่า "การใส่เรื่องจีนไว้ในวาระการประชุมด้วนนั้นไม่เพียงแต่สำคัญต่อญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อสหรัฐฯ ด้วย"
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาคร็อง กล่าวเน้นย้ำถึงความแตกต่างระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ ในประเด็นที่เกี่ยวกับจีน และยังได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลังจากกลับจากการเยือนจีนเมื่อต้นเดือนนี้ เตือนถึงการถูกดึงเข้าไปมีส่วนร่วมในวิกฤตไต้หวันผ่าน "การกดดันของอเมริกาและการตอบโต้เกินกว่าเหตุของจีน"
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนเวียดนาม พบหารือกับนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะแสดงความตั้งใจกระชับความสัมพันธ์ของสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อต้านทานอิทธิพลจีน
- ที่มา: รอยเตอร์