เชื้อเพลิงจากพลังงานไฮโดรเจน คือส่วนหนึ่งในแผนของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อลดมลพิษจากการคมนาคมขนส่งลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 โดยมีการจัดสรรงบประมาณ 9,000 ล้านดอลลาร์ในร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานที่ผ่านการรับรองของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อนำไปใช้ในการวิจัยเพื่อลดต้นทุนในการผลิตเชื้อเพลิงจากพลังงานไฮโดรเจนและสร้างฐานการผลิตพลังงานทางเลือกประเภทนี้
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามว่าพลังงานน้ำหรือไฮโดรเจนนี้จะสามารถกลายเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ได้จริง ๆ หรือไม่
ทุกเช้าที่สถานีขนส่งมวลชนเมืองแคนตัน รัฐโอไฮโอ รถโดยสารประจำทางมากกว่าสิบคันจะเข้าแถวรอเติมเชื้อเพลิงพลังงานไฮโดรเจนก่อนที่จะพากันออกไปให้บริการรับส่งประชาชน
รถโดยสารเหล่านี้ผลิตโดยบริษัท El Dorado National ถือเป็นยานพาหนะต้นแบบที่ใช้พลังงานจากไฮโดรเจนในการขับเคลื่อน เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษที่เกิดจากการเผาผลาญน้ำมันดีเซล โดยปัจจุบันรถโดยสารราว 1 ใน 4 ของเมืองนี้ใช้พลังงานสะอาดที่เป็นทางเลือกใหม่ดังกล่าว
ปัจจุบัน พลังงานจากน้ำหรือไฮโดรเจน ถือเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก และเชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากรถยนต์มากกว่า 1,000 ล้านคันทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันได้ โดยผู้ผลิตรถบรรทุกหรือรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ได้เริ่มเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนบ้างแล้ว รวมทั้งผู้ผลิตเครื่องบิน รถไฟ และรถโดยสารบางบริษัทด้วย
ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม?
การคมนาคมขนส่งถือเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าหากสามารถผลิตเชื้อเพลิงจากไฮโดรเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนที่เป็นสาเหตุสำคัญของปรากฏการณ์เรือนกระจกและภาวะโลกร้อนได้
อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ผลิตได้ทั่วโลกในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังต้องใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในกระบวนการผลิต โดยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ต่างชี้ให้เห็นว่ากระบวนการผลิตพลังงานไฮโดรเจน โดยเฉพาะพลังงานแบบที่เรียกว่า “บลูไฮโดรเจน” หรือไฮโดรเจนที่เกิดจากการสกัดก๊าซธรรมชาติ ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่มากกว่า ทำให้เกิดคำถามว่ายิ่งเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งนั่นหมายความว่ายังไม่สามารถพูดได้ว่าเชื้อเพลิงจากไฮโดรเจนนี้เป็นพลังงานสะอาดจริง ๆ
ถึงกระนั้น ผู้สนับสนุนเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเชื่อว่า พลังงานทางเลือกนี้จะกลายเป็นส่วนสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต เมื่อเราสามารถผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสะอาดมากขึ้นและมีราคาถูกลง
เคิร์ต คอนราด ซีอีโอของสำนักงานขนส่งมวลชนเมืองแคนตัน กล่าวว่า ได้เริ่มใช้รถโดยสารพลังงานไฮโดรเจนตั้งแต่ 5 ปีก่อน และได้เพิ่มจาก 3 คันเป็น 14 คัน ซึ่งที่ผ่านมารถบัสเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังงานไฮโดรเจนนั้นสามารถพึ่งพาได้และมีต้นทุนต่ำ รวมทั้งสามารถนำมาใช้ได้จริงในวงกว้าง
ทั้งนี้ นอกจากที่เมืองแคนตันแล้ว ระบบขนส่งมวลชนในเขตโอ๊คแลนด์ และเขตริเวอร์ไซด์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็เริ่มนำรถโดยสารพลังงานไฮโดรเจนนี้มาให้บริการแล้วเช่นกัน
พลังงานไฮโดรเจนกับอุตสาหกรรมรถยนต์
ที่เยอรมนี รถไฟพลังงานไฮโดรเจนเริ่มวิ่งให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 ขณะที่บริษัทเครื่องบิน Airbus ของฝรั่งเศสก็กำลังพิจารณาพลังงานทางเลือกนี้ด้วย ส่วนในสหรัฐฯ มีการนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาใช้กับรถโฟล์คลิฟต์ราว 35,000 คัน และใช้ในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางไกลต่าง ๆ เนื่องจากรถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจนสามารถวิ่งได้ไกลกว่าพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งทนทานต่ออากาศหนาวเย็นได้ดีกว่าและเติมเชื้อเพลิงได้เร็วกว่าแบตเตอรีไฟฟ้าอีกด้วย
เวลานี้ผู้ผลิตยานพาหนะหลายบริษัท รวมทั้ง General Motors, Navistar และ J.B. Hunt มีแผนสร้างสถานีจ่ายเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจนภายในเวลาสามปี ขณะที่ Toyota, Volvo Trucks, Daimler Trucks AG, Kenworth และหลายบริษัท เริ่มทดสอบรถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจนหรือประกาศลงทุนในด้านนี้แล้วเช่นกัน
สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล ปัจจุบันมีรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนราว 7,500 คันบนท้องถนนในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีสถานีจ่ายเชื้อเพลิงไฮโดรเจนทั้งหมด 45 แห่ง และมีแผนสร้างเพิ่มอีกหลายแห่ง โดยบริษัท Toyota, Honda และ Hyundai ต่างผลิตรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนออกสู่ตลาดในราคาแพงกว่ารถยนต์ทั่วไปหลายพันดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าอนาคตของรถยนต์พลังงานสะอาดในสหรัฐฯ นั้นมีแนวโน้มไปทางพลังงานไฟฟ้ามากกว่าไฮโดรเจน เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่า แตกต่างจากรถบรรทุกที่ใช้ในการขนส่งระยะไกล