ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศตะวันตก (EV) กำลังพยายามลดการพึ่งพาโลหะหายากจากประเทศจีน เมื่อความตึงเครียดระหว่างจีนกับประเทศอื่น ๆ รวมถึงสหรัฐฯ มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้บรรดาผู้ผลิตต่างกังวลว่าโลหะหายากเหล่านี้อาจมีจำกัด
รถยนต์ไฟฟ้าใช้แม่เหล็กชนิดพิเศษในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่ทำมาจากโลหะหายาก
อันที่จริงแล้ว โลหะดังกล่าวไม่ได้หายากจริง ๆ แต่อาจมีความสกปรกและนำไปใช้งานได้ยาก และจีนได้กลายเป็นผู้นำในการผลิตโลหะที่ว่านี้ แต่ความต้องการแม่เหล็กที่ใช้สำหรับพลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าปัญหาการขาดแคลนที่แท้จริงอาจรออยู่ข้างหน้า
บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ในตะวันตกกล่าวว่า พวกเขาไม่เพียงแต่กังวลเกี่ยวกับการจัดหาวัตถุดิบดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับราคาที่สูงขึ้นอย่างมากและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดในขึ้นระหว่างการผลิตด้วย
ตลอดช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ประเทศตะวันตกส่วนใหญ่หยุดผลิตโลหะหายาก เพราะการผลิตนั้นเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่ซับซ้อนและมักจะเกิดอันตรายตามมา
ทั้งนี้ แม่เหล็กหายากส่วนใหญ่ทำมาจากนีโอไดเมียม ซึ่งถูกมองว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และจีนควบคุมซัพพลายของแม่เหล็กหายากนี้อยู่ 90 เปอร์เซนต์ นอกจากนี้ราคาของนีโอไดเมียมออกไซด์เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงเก้าเดือนของปีที่แล้วและยังคงเพิ่มขึ้นถึง 90 เปอร์เซ็นต์
บริษัทรถยนต์ต่าง ๆ พยายามเลิกใช้แม่เหล็กดังกล่าว รวมไปถึง Nissan ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งทางบริษัทบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า กำลังยุติการใช้แร่หายากกับเครื่องยนต์ของรถยนต์รุ่นใหม่ชื่อ Ariya
ส่วน BMW ของเยอรมนีก็ทำเช่นเดียวกันกับรถ Sport Utility หรือรถอเนกประสงค์ไฟฟ้ารุ่น iX3 ในปีนี้ และผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกสองราย ได้แก่ Toyota และ Volkswagen ก็บอกกับรอยเตอร์ว่าตนกำลังลดการใช้แร่ธาตุหายากดังกล่าว
อย่างไรก็ดี แร่ธาตุหายากเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานหมุนเวียน และการป้องกันประเทศ เนื่องจากแร่ธาตุบางชนิดสามารถสร้างพลังงานแม่เหล็กได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรียกกันว่า "แม่เหล็กถาวร"
รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แม่เหล็กถาวรใช้พลังงานแบตเตอรี่น้อยกว่าและสามารถขับได้ไกลกว่ารถยนต์ที่ใช้แม่เหล็กทั่วไป แม่เหล็กชนิดพิเศษเป็นตัวเลือกที่ชัดเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า จนถึงปี ค.ศ. 2010 เมื่อจีนขู่ว่าจะลดการจัดหาแร่หายากในช่วงที่เกิดความขัดแย้งกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ราคาของแม่เหล็กชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ความกังวลด้านซัพพลายทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนกับคู่แข่งจากตะวันตก
แม้ว่าผู้ผลิตรถยนต์ในฝั่งตะวันตกกำลังลดการผลิต แต่จีนยังคงผลิตรถยนต์โดยใช้แม่เหล็กถาวรอยู่ เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมแร่หายากของจีนบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า หากตัดเรื่องความเสี่ยงทางการเมืองออกไป จีนก็จะสามารถ "ตอบสนอง" ความต้องการของโลกได้อย่างเต็มที่
ขณะนี้บริษัทต่าง ๆ กำลังพัฒนาเครื่องยนต์ไฟฟ้าโดยไม่ใช้โลหะหรือนำเอาแม่เหล็กจากรถยนต์ที่มีอยู่กลับมาใช้ใหม่เพิ่มเติม
BMW กล่าวว่า ได้ออกแบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าใหม่เพื่อชดเชยการขาดแร่ธาตุหายาก ผู้ผลิตรถยนต์ Renault ได้ผลิตรถยนต์รุ่น Zoe โดยไม่ใช้แร่ธาตุหายาก ส่วน Tesla บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ จะใช้เครื่องยนต์ทั้งสองประเภท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายอดขายรถยนต์จะลดลงในช่วงการเกิดโรคระบาดใหญ่ แต่ความต้องการแม่เหล็กนีโอไดเมียมในรถยนต์ไฟฟ้าก็ยังเพิ่มขึ้น 35 เปอร์เซ็นต์เฉพาะในปีที่แล้วเพียงปีเดียว
Claudio Vittori ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทผู้ให้บริการข้อมูลสัญชาติอเมริกัน-อังกฤษ IHS Markit กล่าวว่า การใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้าที่ไม่มีโลหะหายากนั้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบแปดเท่าภายในปี 2030 แต่เครื่องยนต์แม่เหล็กถาวรก็จะยังคงครองตลาดอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะกำลังและประสิทธิภาพนั่นเอง
(ที่มา: Reuters)