ลิ้งค์เชื่อมต่อ

มันอยู่ในสายเลือด! อเมริกันไม่ทิ้งแนว ‘ดูแคลนด้วยอาหาร’


แฟ้มภาพ - ติโต เทพเกสร ทำเมนูผัดไทย ของร้าน "Love & Thai" ในเฟรสโน แคลิฟอร์เนีย เมื่อ 20 ธ.ค. 2023 ร้านไทยแห่งนี้ถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ ว่าทำร้ายสุนัขเพื่อนำมาเป็นเนื้อในร้านอาหาร ซึ่งเป็นการกล่าวหาเท็จที่มีต้นตอมาจากการเหยียดเชื้อชาติ (AP)
แฟ้มภาพ - ติโต เทพเกสร ทำเมนูผัดไทย ของร้าน "Love & Thai" ในเฟรสโน แคลิฟอร์เนีย เมื่อ 20 ธ.ค. 2023 ร้านไทยแห่งนี้ถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ ว่าทำร้ายสุนัขเพื่อนำมาเป็นเนื้อในร้านอาหาร ซึ่งเป็นการกล่าวหาเท็จที่มีต้นตอมาจากการเหยียดเชื้อชาติ (AP)

เหมือนจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับชาวอเมริกัน ในการกล่าวหาชนกลุ่มน้อยและผู้อพยพว่ามีพฤติกรรมสุดแหวกแปลกประหลาดเมื่อพูดถึงสิ่งที่คนกลุ่มนี้ดื่มกิน ซึ่งเป็นการบอกกล่าวว่าพวกเขาไม่เข้าพวกหรือไม่เหมาะที่จะอยู่ในประเทศที่ย้ายมา และดูเหมือนว่าพฤติกรรมนี้จะไม่เลือนหายไปจากสังคมอเมริกันได้ง่าย ๆ

การดูถูกดูแคลนด้วยวัฒนธรรมอาหารในอเมริกา เกิดขึ้นล่าสุดในเวทีระดับประเทศอย่างการโต้อภิปรายของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวถึงกระแสออนไลน์ที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับชุมชนเฮติ ในเมืองสปริงฟิลด์ รัฐโอไฮโอ เขาได้กล่าวย้ำหลายต่อหลายครั้งอย่างไม่มีมูลความจริงจากข้อมูลที่ เจ. ดี. แวนซ์ คู่ชิงในศึกประธานาธิบดีของเขา ที่บอกว่าผู้อพยพขโมยสุนัขและแมว สัตว์เลี้ยงแสนรักของชาวอเมริกันไปกินเป็นอาหาร และประเด็นนี้จุดติดจนได้แสงและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องเข้ามาปฏิเสธข้อมูลดังกล่าวว่าไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้

ระหว่างที่เรื่องนี้อาจฟังชวนสะอิดสะเอียน แต่การกล่าวหาผู้อพยพด้วยประเด็นของอาหารการกินนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ของชาวอเมริกัน ซ้ำร้ายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมายาวนานแล้ว

การกล่าวหาและดูถูกดูแคลนด้วยประเด็นด้านอาหารในอเมริกานั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1800 ที่คลื่นผู้อพยพชาวจีนแห่ย้ายมายังฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ และอีกหลายสิบปีต่อจากนั้น คลื่นผู้ย้ายถิ่นฐานจากเอเชียแปซิฟิกอย่างไทยและเวียดนามก็ย้ายตามเข้ามาเป็นจำนวนมากเช่นกัน

อเมริกันไม่ทิ้งแนว ‘ดูแคลนด้วยอาหาร’
please wait

No media source currently available

0:00 0:06:10 0:00

เมื่อปีที่แล้วการให้ร้ายด้านอาหารแบบเดิม ๆ นี้ได้ส่งผลกระทบต่อร้านในแคลิฟอร์เนีย จนต้องปิดตัวและย้ายไปตั้งร้านที่อื่นมาแล้ว

พอล ฟรีดแมนด์ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จาก Yale University กล่าวกับเอพีว่า เบื้องหลังของแนวคิดนี้ไม่ใช่แค่การคุกคามเกี่ยวกับเรื่องรสนิยม แต่มันคือการละเมิดสิทธิ์ของความเป็นมนุษย์ ด้วยการป้ายสีผู้อพยพชาวจีนว่าเป็นพวกที่กินสิ่งต่าง ๆ ที่ชาวอเมริกันไม่คิดจะเอาเข้าปากไปนั้น ทำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นคนนอกคอกไป

เมื่ออาหารกลายเป็นประเด็นเดือด

ชุมชนผู้อพยพอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกกล่าวหาว่ากินเนื้อสัตว์เลี้ยง ก็เคยเผชิญกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความแปลกประหลาดในอาหารที่พวกเขาปรุงขึ้นมาในฐานะผู้ย้ายมาใหม่ในสหรัฐฯ อย่างเช่น ชาวอิตาเลียนที่ใส่กระเทียมมากไป หรือชาวอินเดียที่ใส่ผงกะหรี่มากไป

แม้กระทั่งชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในสหรัฐฯ มานานกว่านั้นยังไม่รอดพ้นจากทัศนคติแบบเหมารวม ทั้งการพาดพิงชาวเม็กซิกันและถั่วในเชิงลบ หรือการดูถูกชาวแอฟริกันอเมริกันเกี่ยวกับไก่ทอดและแตงโม

เอมี เบนท์ลีย์ อาจารย์ด้านโภชนาการและอาหารจาก New York University ให้ทัศนะกับเอพีว่า “มีชุดคำเหยียดหยามในเกือบทุกเชื้อชาติจากอาหารที่พวกเขากิน และนั่นคือหนทางที่ดีในการดูหมิ่นผู้คน” นั่นเพราะอาหารไม่ใช่แค่สิ่งยังชีพเท่านั้น แต่มันฝังอยู่ในพฤติกรรมการกินและเป็นรากฐานของวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาแตกต่างและใช้เป็นเครื่องมือจุดชนวนความเกลียดชังทางเชื้อชาติและวิวาทะทางการเมืองได้

เบนท์ลีย์ เสริมว่า “เราต้องการมัน[อาหาร]เพื่อความอยู่รอด แต่ยังเป็นสิ่งเชิงสัญลักษณ์อย่างมากด้วยเช่นกัน ดังนั้น เค้กวันเกิด การฉลองวันครบรอบ สิ่งต่าง ๆ ที่เราฉลองด้วยอาหารและเครื่องดื่ม มันได้ผูกยึดกับทุกอย่างในชีวิตของเราไปแล้ว”

และเพราะ “มีความแตกต่างในวิถีที่มนุษย์ประกอบพิธีกรรม วิถีที่พวกเขากิน วิถีที่พวกเขาปรุงอาหาร วิถีที่พวกเขากินอาหาร .. มันอาจเป็นหัวข้อธรรมดา ๆ .. หรืออาจกลายเป็นรูปแบบของการแบ่งแยกที่ชัดเจนก็ได้”

การดูแคลนด้านอาหารไม่ใช่แค่สิ่งที่กินเข้าไปเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงรูปแบบหรือวิถีการกินได้อีกด้วย อย่างเช่น การกินด้วยมือหรือตะเกียบ แทนที่จะใช้ส้อมกับมีด เป็นต้น สิ่งนี้อาจใช้เป็นการแสดงอคติต่อชนชั้นกับคนยากจนที่ไม่สามารถเข้าถึงโต๊ะอาหารที่มีเครื่องใช้ครบครันหรือไม่สามารถกินอาหารในแบบที่คนรวยทำได้ รวมทั้งการใช้ภาชนะที่แตกต่างหรือวัตถุดิบที่ไม่คุ้นเคยก็เช่นกัน

การดูหมิ่นดังกล่าวยังขยายวงต่อไปได้ในเหตุบ้านการเมืองปัจจุบัน อย่างเช่น ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 2 ชาวอเมริกันที่ไม่พอใจที่ฝรั่งเศสคัดค้านการบุกอิรัก ได้เรียกเฟรนช์ฟรายส์ว่า “ฟรีด้อม ฟรายส์” แทน และชาวอเมริกันใช้คำว่า “เคราท์ส” ในการดูถูกชาวเยอรมันในช่วงสงครามโลก ซึ่งเป็นการโจมตีวัฒนธรรมอาหารที่เซาเออร์เคราท์ หรือ กะหล่ำเปรี้ยวเป็นอาหารดั้งเดิมของเยอรมนี

ดอนนา อาร์ กาบัคเซีย ผู้เขียนหนังสือ "We Are What We Eat: Ethnic Food and the Making of Americans" เมื่อปี 1998 อธิบายปรากฏการณ์นี้กับเอพีว่า ทัศนคติของชาวอเมริกันในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คือการเรียกร้องให้เป็น “อเมริกันนิยมแบบหมดจด 100%” และผู้อพยพกินอะไรแปลกไปก็เท่ากับผิดไปหมด และกล่าวว่าในยุคนั้นเซาเออร์เคราท์ได้กลายเป็น “กะหล่ำปลีแห่งชัยชนะ” และยังมีชาวอเมริกันวิจารณ์ครอบครัวอิตาเลียนว่า “ยังคงกินสปาเกตตี้อยู่ และยังไม่ปรับตัวเป็นหนึ่งเดียวกับอเมริกาเลย”

วัฒนธรรมอาหารที่มากขึ้น = การดูแคลนที่เพิ่มขึ้น

แนวคิดเหมารวมดังกล่าวยังคงมีอยู่แม้ว่าชาวอเมริกันจะเปิดต่อมรับรสมากขึ้นในช่วงหลายทศวรรษมานี้ เนื่องจากการทะลักล้นเข้ามาของผู้อพยพ ร้านรวงในอเมริกาไม่ขาดแคลนเครื่องปรุงนานาชาติ ร้านอาหารหลากวัฒนธรรมเข้ามาตีตลาดนักชิมชาวอเมริกันมากมายด้วยการขายความเป็นต้นตำรับในหลายยุคหลายสมัย

แต่ท้ายที่สุดแล้ว เบนท์ลีย์ จาก New York University กล่าวว่า “เมื่อผู้อพยพย้ายมายังประเทศใหม่ พวกเขานำวิถีการกินมาด้วย และยังคงรูปแบบนั้นไว้เท่าที่จะทำได้ .. มันมันชวนให้นึกถึงครอบครัว ชุมชน บ้านที่จากมา สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการแสดงออกทางวัตถุและประสาทสัมผัสบ่งบอกว่าเราคือใคร”

อาหารเฮติเป็นหนึ่งในตัวอย่างนั้น ชุมชนเฮติที่พบในมหานครนิวยอร์กและที่ฟลอริดามีอาหารเฮติ ที่ใช้วัตถุดิบอย่างเนื้อแพะ กล้าย และมันสำปะหลังมาประกอบอาหาร

เมื่อทรัมป์ กล่าวว่าผู้อพยพในสปริงฟิลด์ โอไฮโอ ที่เขาเรียกว่า “คนที่เข้ามา” กินเนื้อสุนัขและแมว และ “สัตว์เลี้ยงของคนที่อยู่ที่นั่น” ยิ่งเป็นการตอกย้ำไม่ใช่แค่ดูถูกเรื่องอาหารแต่ยังรวมถึงวัฒนธรรมของพวกเขาด้วย

แม้ว่าชาวอเมริกันจะลองลิ้มชิมรสที่หลากหลายขึ้นในช่วงหลายสิบปีมานี้ แต่แนวคิดเหมารวมด้านอาหารก็ยังคงอยู่ และการดูถูกเหยียดหยามไม่ว่าจะบนพื้นฐานของความจริงหรือแค่กุขึ้นมา ได้แสดงให้เห็นว่า แม้ชาวอเมริกันจะกินอาหารหลากหลายขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะใจกว้างที่จะทานทนกับความแตกต่างของชนชาติอื่นได้เลย

ฟรีดแมนด์ จาก Yale University ทิ้งท้ายกับเอพีว่า “มันเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่จะคิดแบบนั้น มันเหมือนความเข้าใจผิดว่าการท่องเที่ยวจะทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมหรือความหลากหลายได้มากขึ้น ตัวอย่างที่ดีที่สุดตอนนี้คืออาหารเม็กซิกัน ผู้คนมากมายชื่นชอบอาหารเม็กซิกันควบคู่ไปกับความคิดที่ว่าผู้อพยพจะต้องยุติหลั่งไหลเข้ามาได้แล้ว มันไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างความชื่นชอบอาหารต่างชาติกับการเปิดใจรับชาวต่างชาติแต่อย่างใด”

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG