ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย Emory ในรัฐจอร์เจีย พบว่ากบพันธุ์หนึ่งในรัฐ Kerala ทางใต้ของอินเดีย ผลิตโปรตีน Peptide ในเมือกเหนียวที่ขับออกมาเพื่อป้องกันเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
โปรตีน Peptide จากกบชนิดนี้สามารถใช้ฆ่าเชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้หลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ H1 และสายพันธ์ที่อาจทำให้เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากได้
นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า "เนื่องจากกบไม่มีระบบภูมิต้านทาน กบจึงสร้างเมือกเหนียวนี้ขึ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ"
หลังจากที่สามารถระบุโปรตีน Peptide ซึ่งออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสโดยเฉพาะสายพันธุ์ H1 ได้แล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถสังเคราะห์โครงสร้างของโปรตีนนี้ขึ้นในห้องทดลอง
ขั้นตอนต่อไปคือการแปลงรูปโปรตีนนี้ให้อยู่ในรูปของยาเม็ดหรือยาฉีดเพื่อใช้กับมนุษย์สำหรับฆ่าเชื้อไวรัส
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โปรตีนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในกรณีที่ไม่มีวัคซีนหรือเมื่อไวรัสบางสายพันธุ์ดื้อยาก็ตาม แต่นักวิทยาศาสตร์ก็เตือนว่าโปรตีน Peptide จากกบในอินเดียนี้ ยังใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อไข้หวัดซึ่งระบาดในแต่ละปี
เนื่องจากเชื้อไวรัสดังกล่าวสามารถกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว