ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยแนะ "ยาปฏิชีวนะราคาถูก" อาจช่วยบำบัดโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจร้ายเเรง (PTSD)


A pharmacist holds up a bottle of the antibiotic doxycycline.
A pharmacist holds up a bottle of the antibiotic doxycycline.
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:26 0:00

คนที่ประสบกับเหตุการณ์สะเทือนใจร้ายเเรง ไม่ว่าจะเป็นสงคราม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือการทำร้ายทางเพศ มักตกอยู่ในสภาพหวาดกลัวหรือวิตกรุนแรง เพราะความทรงจำต่อเหตุการณ์หวนกลับมารบกวนจิตใจ

ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า "โรคเครียด PTSD"

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า จิตวิทยาบำบัดมักเป็นวิธีที่แพทย์เลือกใช้ในการช่วยลดอาการของโรคลง เเต่การบำบัดนี้ต้องใช้เวลานานและเสียค่าใช้จ่ายสูง

ทีมนักวิทยาศาสตร์ในยุโรปค้นพบว่า ยาปฏิชีวนะที่เรียกว่า "ด็อกซิไซคลิน" ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการบำบัดการติดเชื้อเเบคทีเรีย ซึ่งค้นพบนานเเล้วและราคาถูก อาจช่วยบำบัดโรคเครียดแบบ PTSD ได้

ผลการศึกษาหลายชิ้นพบว่า ในการสร้างความทรงจำ สมองของคนเราต้องใช้โปรตีนหลายชนิดที่อยู่ภายนอกเซลล์ประสาทนิวรอน เรียกว่า "matrix enzymes" ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบได้ทั่วร่างกายคนเรา

และความบกพร่องของการทำงานของโปรตีนชนิดนี้ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ รวมทั้งมะเร็ง

ยาปฏิชีวนะด็อกซิไซคลินใช้บำบัดการทำงานที่บกพร่องของโปรตีนเหล่านี้ ด้วยการสกัดกั้นไม่ให้เอ็นไซม์เหล่านี้ทำงาน

ทีมนักวิจัยเกิดความสงสัยว่า ยาปฏิชีวนะชนิดนี้อาจมีประสิทธิภาพในการแทรกเเซงการทำงานที่ไวเกินไปของเอ็นไซม์ในสมองเหล่านี้ ซึ่งมีผลให้ระบบสร้างความทรงจำทางลบอ่อนเเอลง

Dr. Dominik Bach นักวิจัยด้านจิตวิทยาคลินิก เเห่งมหาวิทยาลัยซูริกเเละสถาบันประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน กล่าวว่า "สมองมีระบบปรับความจำระยะสั้นให้กลายเป็นความจำระยะยาว"

Dr. Bach ได้ทำการทดลองหลายครั้ง โดยใช้ยาปฏิชีวนะด็อกซิไซคลินในการแทรกเเซงการสร้างความทรงจำระยะยาว

Dr. Dominik Bach กล่าวว่า "ตนเชื่อว่าหากยาปฏิชีวนะชนิดนี้ใช้ได้ผลในการบำบัดโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนในร้ายเเรง ยาชนิดนี้จะกลายเป็นวิธีบำบัดที่ง่ายขึ้นกว่าจิตวิทยาบำบัด และใช้เวลาสั้นกว่า แต่ก็ได้ผลดีเช่นกัน"

Dr. Bach มีส่วนร่วมในการศึกษาคนที่มีสุขภาพเเข็งเเรงดี 76 คน โดยครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมการทดลองได้รับยาปฏิชีวนะชนิดนี้ ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งได้รับยาปฏิชีวนะหลอก

ในการทดลอง ผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งสองกลุ่มจะต้องมองที่สีเเดงหรือสีน้ำเงินที่ปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ อาสาสมัครเเต่ละคนจะถูกช็อตเบาๆ ด้วยกระเเสไฟฟ้าแบบอ่อนเมื่อมองไปที่สีนั้นๆ ทำให้อาสาสมัครจดจำความเจ็บปวดกับสีที่ตนมองเห็นตอนถูกกระเเสไฟฟ้าอ่อนๆ ช็อต

หนึ่งสัปดาห์ต่อมา อาสาสมัครทั้งหมดกลับมาที่ห้องทดลองอีกครั้ง เเต่เเทนที่จะถูกช็อตด้วยกระเเสไฟฟ้าระดับต่ำ นักวิจัยใช้เสียงดังแทน โดยยังให้มองไปที่สีเดียวกับในการทดลองครั้งเเรก

Dr. Bach กล่าวว่า "อาสาสมัครคนที่ได้รับยาปฏิชีวนะหลอกแสดงอาการที่บ่งบอกว่า ทันที่ที่พวกเขามองเห็นสีที่ได้มองในการทดลองครั้งเเรก พวกเขาคาดว่าจะกำลังถูกช็อตด้วยกระเเสไฟฟ้าอ่อน และตอบสนองด้วยการกระพริบตาถี่ขึ้นเล็กน้อยกว่ากลุ่มอาสาสมัครที่ใช้ยาปฏิชีวนะด็อกซิไซคลิน"

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การกระพริบตาเป็นการตอบสนองเเบบอัตโนมัติของคนเราต่อภัยคุกคามกระทันหัน การกระพริบตาถี่ขึ้นซึ่งเกิดกับอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับยาปฏิชีวนะหลอก เเสดงว่าพวกเขาตกใจง่ายขึ้นเเละหวาดกลัวต่อเสียงที่ดังมากกว่ากลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับยาปฏิชีวนะด็อกซิไซคลิน

โดยคนที่ได้รับยาจริงจะเเสดงการตอบสนองด้วยความกลัวต่อเสียงที่ดังน้อยลงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับยาหลอก

ผลการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Psychiatry

ในขั้นต่อไป Dr. Bach วางเเผนที่จะทดลองเเบบเดียวกันนี้อีกครั้งในกลุ่มอาสาสมัครที่เเข็งเเรงดี เพื่อดูว่าสามารถทำให้คนปกติตกใจกลัวจากความทรงจำที่มีอยู่เเล้วได้หรือไม่

และหากได้ผลการทดลองเเบบเดียวกัน ทีมงานวิจัยจะพยายามทดลองใช้ยาปฏิชีวนะด็อกซิไซคลินในการบำบัดผู้ป่วยโรคเครียด PTSD ที่หวาดกลัวเพราะได้รับผลกระทบจากความทรงจำต่อเหตุการณ์ที่สะเทือนใจอย่างร้ายเเรงต่อไป

(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)

XS
SM
MD
LG