ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดาและชาวออสเตรเลีย เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของเชื้อฝีดาษจากตัวอย่างผิวหนังของซากมัมมี่เด็กที่เหลือเเค่ส่วนล่างของร่างกายเท่านั้น ซึ่งค้นพบในห้องลับใต้ตินของโบถส์ที่ประเทศลิธัวเนีย
ซากมัมมี่เด็กดังกล่าวเป็นหนึ่งในมัมมี่หลายตัวที่พบในห้องลับใต้ดินของโบถส์ที่มีอายุเก่าแก่ 400 ปีแห่งนี้ และถือเป็นหลักฐานเก่าแก่ชิ้นเเรกที่ยืนยันประวัติของการติดเชื้อฝีดาษในมนุษย์
ก่อนการค้นพบครั้งนี้ เชื่อกันมาตลอดว่าฟาโรห์รามเสสที่ห้าแห่งอียิปต์โบราณ ติดเชื้อฝีดาษ เพราะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าพบร่องรอยของฝีดาษบนซากมัมมี่ของฟารโรห์ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากซากมัมมี่ที่มีอายุ 4 – 5 พันปีเพื่อยืนยันเรื่องนี้
ซากมัมมี่เด็กที่ติดเชื้อฝีดาษดังกล่าวไม่มีร่องรอยของแผลเป็นจากโรคฝีดาษ ซึ่งสร้างความแปลกใจเเก่ Hendrik Poinar ผู้อำนวยการศูนย์ดีเอ็นเอโบราณ มหาวิทยาลัย McMaster ในออนตาริโอ้ เขากล่าวว่ามัมมี่เหล่านี้ช่วยให้ทีมงานสามารถศึกษาย้อนกลับไปในอดีตถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ และได้ค้นหาหลักฐานการติดเชื้อไวรัสมากมายหลายชนิด จนที่สุดได้ค้นพบมัมมี่เด็กติดเชื้อฝีดาษด้วย
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างเเพร่หลาย ช่วยกำจัดเชื้อฝีดาษ หรือเชื้อไวรัสวาริโอล่า (variola virus) ให้หมดจากโลกในปี 1977
ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ประกอบดีเอ็นเอจากคริสต์ศตวรรษที่ 17 ขึ้นมาใหม่ และนำไปเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอที่มีอายุย้อนไปถึงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1900 กับตัวอย่างดีเอ็นเอของเชื้อโรคก่อนหน้าที่ฝีดาษจะถูกกำจัดไปจากโลก
ทีมงานสรุปว่า ตัวอย่างดีเอ็นเอทั้งหมดมีบรรพบุรุษของเชื้อไวรัสเดียวกัน ซึ่งกำเนิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1588 -1645
นอกเหนือจากการช่วยระบุประวัติของเชื้อฝีดาษแล้ว ทีมนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าผลการค้นพบของทีมงานครั้งนี้ยังช่วยระบุช่วงเวลาที่เชื้อฝีดาษเริ่มวิวัฒนาการ ทีมนักวิจัยคิดว่าเชื้อ ฝีดาษเริ่มแยกออกเป็นสองสายพันธุ์จากบรรพบุรุษเดียวกัน ในช่วงที่มีการคิดค้นวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสวาริโอล่าขึ้นมาใช้โดย Edward Jenner ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 1800
ทีมนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า วัคซีนทำให้เชื้อไวรัสฝีดาษเริ่มแยกกันออกเป็นสองสายพันธุ์ คือเชื้อไวรัสวาริโอล่า เมเจอร์ (variola major) กับเชื้อไวรัสวาริโอล่า ไมเน่อร์ (variola minor) โดยสายพันธุ์หนึ่งมีความรุนแรงกว่าอีกสายพันธุ์หนึ่ง
Poinar กล่าวว่าช่วงเวลาที่เชื้อฝีดาษแยกออกเป็นสองสายพันธุ์ ตรงกับช่วงเวลาที่มนุษย์เริ่มออกเดินทางไปในต่างแดน อพยพย้ายถิ่นและการล่าอณานิคม ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่น่าจะมีส่วนช่วยให้เชื้อฝีดาษเเพร่ระบาดไปทั่วโลก
แม้ว่าฝีดาษจะหมดไปจากโลกและไม่เป็นปัญหาสุขภาพอีกต่อไป Poinar คิดว่ามีความสำคัญที่ต้องศึกษาเพื่อระบุประวัติของโรคนี้ เพื่อศึกษาการวิวัฒนาการเเละความก้าวหน้าของเชื้อโรค ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะมีบทบาทสำคัญในการบำบัดเเละกำจัดโรคอื่นๆให้หมดไปจากโลก
ผู้อำนวยการศูนย์ดีเอ็นเอโบราณ มหาวิทยาลัย McMaster ในแคนาดา กล่าวว่า การวิจัยนี้ไม่ได้ไร้ประโยชน์อย่างที่หลายคนอาจจะมอง เขาคิดว่าการวิจัยนี้ช่วยสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นถึงการวิวัฒนาการของโรคติดต่อ ซึ่งเขาคิดว่าสำคัญมากที่ต้องรู้เเละเข้าใจ
(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)