ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สวิตเซอร์แลนด์เปิดตัว “ตู้เย็นสาธารณะ” สู้ปัญหาขยะอาหาร


เอลิซา คาซาเรซ วัย 9 ขวบ เติมของในตู้เย็นสาธารณะ ช่วงการระบาดของโควิด-19 5 เมษายน 2020 (ภาพ: เอพี)
เอลิซา คาซาเรซ วัย 9 ขวบ เติมของในตู้เย็นสาธารณะ ช่วงการระบาดของโควิด-19 5 เมษายน 2020 (ภาพ: เอพี)

เมื่อผักผลไม้และอาหารที่ซื้อไว้มากไปเริ่มจะไม่สดเหมือนเก่า หลายคนอาจนำอาหารเหล่านี้ไปโยนทิ้งถังขยะก่อนเวลาอันควร แต่ที่สวิตเซอร์แลนด์มีการผลักดันการทำตู้เย็นสาธารณะเพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะอาหารในประเทศ

องค์กรไม่แสวงผลกำไรในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เปิดตัวตู้เย็นสาธารณะริมถนน ที่ผู้คนสามารถใช้งานได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม โดยที่เจ้าของร้านอาหาร คนทำอาหารจากที่บ้าน และบุคคลอื่น ๆ สามารถแบ่งปันอาหารที่กำลังใกล้หมดอายุให้ผู้อื่นที่ต้องการ

การผลักดันเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในภาพรวมของชุมชนในสวิตเซอร์แลนด์และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ที่ต้องการทำเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งช่วยลดขยะจากอาหาร

องค์กรดังกล่าวชื่อว่า “Free-Go” ที่ล้อมาจากคำว่า “Frigo” ซึ่งแปลว่าตู้เย็นในภาษาพูดของฝรั่งเศส องค์กรนี้ได้เปิดตัวตู้แช่และชั้นวางอาหารในพื้นที่กรุงเจนีวา ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาสามารถหยิบ ผัก ผลไม้ ขนมปัง รวมไปถึงอาหารสด เพื่อนำกลับไปบริโภคที่บ้าน โดยที่ไม่ต้องเสียเงินสักบาท

ในแต่ละปี โครงการจะใช้งบประมาณ 40,000 ดอลลาร์ หรือราว 1,360,000 บาท เป็นเงินช่วยเหลือมาจากกลุ่มการกุศลและทางการท้องถิ่น โครงการดังกล่าวเปิดตัวเมื่อปีที่แล้วด้วยตู้แช่เย็นเพียงตู้เดียว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณศูนย์ชุมชนด้านตะวันตกของกรุงเจนีวา ปัจจุบันนี้มีจำนวนสี่ตู้ และวางแผนที่จะติดตั้งตู้ที่ห้าภายในสิ้นปีนี้

มารีน เดอเลอโว ผู้อำนวยการของโครงการ กล่าวว่า โดยทั่วไปอาหารที่ถูกส่งมาฝากไว้จะมีผู้มาหยิบไปภายในเวลาหนึ่งชั่วโมง ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและกฎข้อบังคับ จึงไม่อนุญาตให้ตู้เย็นเหล่านี้รับฝาก อาหารประเภทแช่แข็ง อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เปิดแล้ว อาหารที่ปรุงขึ้นเอง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นอกจากนี้ องค์กร Free-Go กำลังทดลองการกำหนดเวลารับ-ส่งอาหารจากคนที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ เพื่อสร้างความสะดวกสบายต่อผู้ที่สนใจ อีกทั้งยังเปิด “สายด่วน” ให้กับเหล่าเจ้าของร้านอาหาร ให้แจ้งเข้ามาในกรณีมีอาหารที่ไม่ต้องการแล้ว

เดอเลอโว กล่าวว่า “โดยทั่วไป เมื่ออาหารถูกรวบรวมจากร้านค้าและร้านอาหารมาถึงในตอนเช้า จะมีคนที่รอหยิบอาหารเหล่านี้อยู่แล้ว” เธอยังเผยว่า หลังจากติดตั้งตู้เย็นรับบริจาคแห่งแรกในกรุงเจนีวา ในปีที่แล้วได้ช่วยลดขยะจากอาหารปริมาณราว 3.2 ตัน และจากอาหารที่ได้รับบริจาคทั้งหมด มีเพียงร้อยละ 3 ที่ถูกนำไปทิ้ง เนื่องจากไม่มีผู้สนใจ

องค์กรนี้ยังชี้ว่าผู้บริจาคอาหารจากภาคเอกชน ทั้งร้านอาหารหรือผู้จำหน่ายอาหาร จะต้องให้คำมั่นสัญญา ว่าอาหารที่บริจาคปลอดภัยสำหรับการบริโภค เดอเลอโวยังเสริมว่า ตามกฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ อาหารที่มีอายุเกินวันที่ “ควรบริโภคก่อน” สามารถบริโภคหลังจากวันที่กำหนดได้เป็นเวลา 1 ปี

รัฐบาลสวิสประเมินว่าเกือบ 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหมดที่มีไว้เพื่อการบริโภค ต้องถูกโยนทิ้งอย่างไร้ประโยชน์ โดยคิดเป็นประมาณ 330 กิโลกรัมต่อประชากรในแต่ละปี และจากจำนวนนี้ ประมาณ 100 กิโลกรัมเป็นขยะที่มาจากครัวเรือน

องค์กร Free-Go กล่าวว่า ในทุกปีอาหารประมาณ 1 พันล้านตันถูกทิ้งจากทั่วโลก เป็นการสูญเสียพลังงานและทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งจากกระบวนการทำฟาร์มและการขนส่ง

สหภาพยุโรป หรือ อียู เคยกล่าวว่า “การทิ้งอาหารไม่ได้เป็นเพียงปัญหาด้านจริยธรรมและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างจำกัดในสภาพแวดล้อมหมดลงไปด้วย”

อ้างอิงข้อมูลของ Foodsharing.de ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนในเยอรมนี ที่เริ่มต้นเมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว ผู้คนมากกว่า 5 แสนคน ทั้งในเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรีย ทำให้ “การริเริ่มแบ่งปันอาหาร เป็นความเคลื่อนไหวระดับนานาชาติ” และช่วยให้อาหารปริมาณราว 83 ล้านตัน ไม่ต้องถูกโยนทิ้งอย่างไร้ความหมาย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากอาหารที่ได้รับบริจาคแตกต่างกันไป และผู้คนสามารถหยิบได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะคาดเดาว่าจะได้รับอาหารแบบไหนจากตู้เย็นสาธารณะเหล่านี้ ซึ่งผู้ที่มารับบริจาคอาหารบางราย อาจจะต้องพบกับความผิดหวังในบางครั้ง

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG