บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ตั้งเป้าผลิตเนื้อจากห้องแลปเพื่อส่งไปขายตามร้านอาหารได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า
เมื่อ 5 ปีที่แล้ว บริษัท Mosa Meat ของเนเธอร์แลนด์ ได้นำเสนอเนื้อเบอร์เกอร์ที่ผลิตในห้องทดลองเป็นครั้งแรกของโลก และสามารถระดมทุนได้ถึง 8.8 ล้านดอลลาร์ เพื่อดำเนินงานตามแผนการผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์เทียม ซึ่งมาจาก M Ventures ฝ่ายการลงทุนในเครือของบริษัทเภสัชกรรม Merck KGaA ของเยอรมนี และบริษัท Bell Food Group บริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์ของยุโรปที่ตั้งอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์
นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เตือนว่า ความต้องการเนื้อสัตว์เป็นอาหารที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างประเทศจีนนั้นไม่ยั่งยืน เพราะการปศุสัตว์เพื่อนำเนื้อมาเป็นอาหาร อย่างเนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อสัตว์ปีก ต้องใช้ทรัพยากรมากกว่าโปรตีนจากพืช โดยเฉพาะวัว ซึ่งผลิตแก๊สเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน
ขณะที่ การผลิตเนื้อเทียม สามารถแก้ปัญหาความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลกระทบทางจริยธรรมในการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำเนื้อมาบริโภค
ความท้าทายสำคัญ คือ การที่ทำให้เนื้อสัตว์เทียมนี้มีลักษณะ และรสชาดเหมือน กับเนื้อสัตว์จริงๆ ในการผลิตของบริษัท Mosa Meat จะใช้ตัวอย่างเซลล์ขนาดเล็กที่นำมาจากสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เซลล์เหล่านี้ได้รับสารอาหารเพื่อให้เติบโตเป็นเส้นใยกล้ามเนื้อ ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มเซลล์ตัวอย่างขนาดเล็กเพียงกลุ่มเดียว สามารถผลิตเนื้อเบอร์เกอร์แผ่นได้มากถึง 80,000 ชิ้น
บริษัท Mosa Meat คาดว่าจะสามารถจำหน่ายเนื้อบดสำหรับทำแฮมเบอร์เกอร์ เป็นสินค้าตัวแรกของบริษัทได้ ในปี ค.ศ. 2021 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ด้วยต้นทุนการผลิตเพียง 1 ดอลลาร์ หรือ 30 บาทต่อชิ้น
ปัจจุบัน มีบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งเริ่มเพาะเลี้ยงเนื้อในห้องทดลองกันมากขึ้น จึงเกิดการถกเถียงเกี่ยวกับ ชื่อที่จะใช้เรียกผลิตภัณฑ์นี้ตามมา ซึ่งฝั่งผู้ที่สนับสนุนการผลิตเนื้อแบบนี้ก็เรียกกันว่า clean meat หรือ เนื้อสะอาด ขณะที่กลุ่มที่สนับสนุนการปศุสัตว์แบบดั้งเดิมกลับแย้งว่า เนื้อสังเคราะห์ น่าจะเหมาะสมกว่า