ลิ้งค์เชื่อมต่อ

5 สิ่งที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนเปลี่ยนแปลงโลก


APTOPIX Russia Ukraine War
APTOPIX Russia Ukraine War

รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว และผ่านพ้นมาเป็นเวลา 1 ปีเต็มในภาวะสงคราม มีรายงานการสูญเสียทั้งทหารและพลเรือน และได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกไปมากมายจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และนี่คือ 5 สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

การกลับมาของสงครามยุโรป

สงครามที่เกิดขึ้นในยุโรปทำให้หลายประเทศต้องกลับมาใส่ใจกองทัพของตนเองหลังจากจำกัดงบประมาณด้านกลาโหมมาหลายปี

อย่างเช่น ตอนนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการทหารยุโรปต่างเชื่อว่าจำเป็นต้องใช้ปืน รถถัง และกระสุนมากขึ้น จากที่ช่วงก่อนรัสเซียจะบุกยูเครน นักวิเคราะห์หลายรายคิดว่าการสงครามยุคใหม่จะต้องใช้เครื่องมือเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ

ระหว่างที่โดรนและดาวเทียมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการต่อสู้ แต่กลายเป็นว่าสงครามนั้นจำเป็นต้องใช้ยุทโธปกรณ์อย่างที่เคยใช้ในอดีตอยู่ดี

ในช่วงก่อนสงครามยูเครนปะทะ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน กล่าวว่า “แนวคิดเก่า ๆ ของการสู้รบด้วยรถถังใหญ่ .. มันตกยุคไปแล้ว”

ตอนนี้เยอรมนีส่งรถถังและยุทโธปกรณ์ให้กับยูเครนและอังกฤษกำลังพิจารณาแผนการแบบเดียวกัน ด้านสหรัฐฯ และฝรั่งเศส เพิ่มการผลิตอาวุธและเพิ่มงบประมาณด้านการทหารมากขึ้นแล้ว

แพทริก บิวรี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจาก University of Bath ในอังกฤษ ให้ทัศนะกับเอพีว่า “นี่คือ อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง แสดงให้เห็นในยูเครนแล้วว่า การสงครามแบบดั้งเดิม ... กลับมาแล้ว”

จุดวัดใจพันธมิตรทั่วโลก

ก่อนสงครามยูเครนจะเริ่มขึ้น ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน คิดว่าการรุกรานยูเครนจะสั่นสะเทือนนาโต้

อย่างไรก็ตาม พันธมิตรด้านการทหารนี้กลับดูแข็งแกร่งกว่าแต่ก่อน ยิ่งไปกว่านั้น สวีเดนและฟินแลนด์ยังเผยแผนการเข้าร่วมองค์การนาโต้อีกด้วย

ทั้งองค์การนาโต้และสหภาพยุโรป ดูเหมือนจะเป็นเอกภาพกันมาเป็นเวลาหนึ่งปีแล้ว แต่คำถามต่อไปก็คือทุกประเทศที่เกี่ยวข้องจะสามารถร่วมมือกันได้ในอีกหลายปีต่อจากนี้หรือไม่

เลขาธิการนาโต้ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก กล่าวว่า “รัสเซียกำลังวางแผนสำหรับสงครามอันยาวนาน” แต่นาโต้ก็พร้อมสำหรับเรื่องนี้

ม่านเหล็กผืนใหม่

การแบ่งแยกระหว่างยุโรปตะวันตกกับอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งเคยเป็นที่รู้จักในชื่อ “ม่านเหล็ก” หลังการทำลายกำแพงเบอร์ลินและการเปลี่ยนแปลงที่ประชาธิปไตยนำพาเข้ามาสู่ยุโรปตะวันออก ผู้คนต่างกล่าวว่าม่านเหล็กได้คลี่ลงมาปกคลุมอีกครั้งแล้ว

ในตอนนี้ ภาคธุรกิจจากตะวันตกที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูในรัสเซียมาเป็นเวลากว่า 30 ปีมานี้ ยุติการดำเนินกิจการและย้ายออกจากรัสเซีย อย่างเช่น อิเกีย แมคโดนัลด์ ที่ไม่ได้ดำเนินกิจการในรัสเซียแล้ว

แต่รัสเซียก็ไม่ได้โดดเดี่ยวโดยสิ้นเชิง ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้กระขับสัมพันธ์กับจีน อิหร่าน และเกาหลีเหนือ รัสเซียใช้โดรนที่ผลิตจากอิหร่าน และรัสเซียยังมีอิทธิพลในตะวันออกกลางและแอฟริกา ขณะที่บางประเทศ อย่างเช่น อินเดีย กำลังอยู่ระหว่างการเลือกฝั่งว่าจะยืนอยู่เคียงข้างฝ่ายใดในสงครามความขัดแย้งนี้

เทรซีย์ เจอร์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งและความมั่นคงจาก Kings College กรุงลอนดอน กล่าวว่า สงครามได้สร้างระยะห่างระหว่างประเทศที่สนับสนุนยูเครนและประเทศที่อยู่ข้างรัสเซียและจีน

เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนและเปลี่ยนแปลง

ตลาดอาหารในแอฟริกาปราศจากธัญพืชและน้ำมันพืช และบ้านเรือนในยุโรปเผชิญกับความหนาวเหน็บเนื่องจากภาวะสงคราม

ก่อนที่สงครามจะปะทุขึ้น ธัญพืชและน้ำมันพืชที่ส่งไปตะวันออกกลางและแอฟริกามาจากรัสเซียและยูเครน ก๊าซหุงต้มและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ส่วนใหญ่ในยุโรปมาจากรัสเซีย ปริมาณอาหารและเชื้อเพลิงที่ลดลงและราคาที่พุ่งสูงขึ้น ตอนนี้หลายประเทศกำลังพิจารณาหนทางในการจัดหาอาหารและพลังงานของพวกเขาเองแล้ว

เรือขนส่งธัญพืชได้กลับมาเดินเรือออกจากท่ายูเครนและราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับลดลงมา อย่างไรก็ตาม มุมมองของเจอร์แมน เห็นว่า สงครามนี้ได้แสดงให้เห็นถึง “ความเปราะบาง” ของโลกที่มีความเชื่อมโยงกันเช่นนี้

สำหรับผลกระทบในระยะสั้น หลายประเทศในยุโรปได้กลับมาพึ่งพาพลังงานถ่านหินกันแล้ว แต่ในระยะยาว การสู้รบอาจทำให้หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจกับพลังงานทางเลือกมากขึ้น สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency – IEA) ระบุว่า จะมีการเพิ่มขึ้นอย่างมากของพลังงานทางเลือกในอีก 5 ปีข้างหน้า

ช่วงเวลาที่ไร้เสถียรภาพ

ตอนนี้ผู้คนทั่วโลกรับรู้ว่าพวกเขากำหนดชะตาอนาคตของตนเองได้ไม่มากนัก อย่างเช่น ผู้คน 8 ล้านคนที่ต้องอพยพจากบ้านเกิดในยูเครน ซึ่งเมื่อ 13 เดือนก่อนนั้นพวกเขาไม่เคยคาดคิดว่าชีวิตจะพลิกผันได้ขนาดนี้

นอกเหนือจากยูเครนและรัสเซีย สงครามได้ทำให้ผู้คนที่ติดตามข่าวสารความขัดแย้งนี้รู้สึกกังวลถึงความปลอดภัยของพวกเขาด้วยเช่นกัน มีการสู้รบใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในซาปอริซห์เชีย สร้างความกังวลถึงอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้น และปธน.ปูตินได้พูดถึงความเป็นไปได้ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามครั้งนี้

แพทริเซีย ลูอิส ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงจาก Chatham House ศูนย์วิเคราะห์ด้านการเมืองในกรุงลอนดอน ให้ทัศนะด้วยว่า ภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์ได้สร้าง “ความโกรธเคืองมากกว่าหวาดกลัว” ให้กับบางคน

อย่างไรก็ตาม ผู้นำรัสเซียกล่าวในสัปดาห์นี้ว่าได้ระงับการเข้าร่วมในสนธิสัญญานิว สตาร์ท (New START treaty) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาฉบับสุดท้ายระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ที่มีเป้าหมายควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ของสองประเทศ

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG