ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หนึ่งปีหลังสงครามยูเครน จีนยังคงมี “มิตรภาพไร้ขีดจำกัด” ต่อรัสเซียหรือไม่?


China Russia
China Russia

วันศุกร์นี้เป็นวันครบรอบหนึ่งปีนับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ปีที่แล้ว โดยก่อนหน้านั้นไม่กี่สัปดาห์ จีนและรัสเซียได้ประกาศ “มิตรภาพไร้ขีดจำกัด” ท่ามกลางความกังวลของชาติตะวันตก

รอยเตอร์รวบรวมท่าทีของจีนต่อรัสเซียในประเด็นสงครามยูเครนช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา

China-Russia on Ukraine war infographic
China-Russia on Ukraine war infographic

จีนสนับสนุนรัสเซียอย่างไร?

จีนได้ปกป้องรัสเซียทางการทูต ทั้งหลีกเลี่ยงประณามการกระทำของรัสเซีย หรือไม่ระบุว่ารัสเซีย “รุกราน” ยูเครน เช่นเดียวกับที่รัสเซียเรียกการกระทำของตนว่าเป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” เพื่อปกป้องความมั่นคงของรัสเซีย

แม้จีนจะเรียกร้องสันติภาพหลายครั้ง แต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ก็อยู่เคียงข้างกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ในการต่อต้านแรงกดดันจากชาติตะวันตกเพื่อโดดเดี่ยวรัสเซีย

นอกจากนี้ จีนยังยกระดับการค้ากับรัสเซียและยินดีนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ขณะที่เศรษฐกิจรัสเซียได้รับผลกระทบจากมาตรการลงโทษโดยประเทศต่าง ๆ

China-Russia on Ukraine war infographic
China-Russia on Ukraine war infographic

จีนเสียอะไรไปบ้างจากการสนับสนุนรัสเซีย?

นักวิเคราะห์เห็นว่า การสนับสนุนรัสเซียของจีนได้สร้างความเสียหายต่อมิตรภาพระหว่างจีนกับชาติตะวันตกอย่างมาก และส่งผลต่อความพยายามของจีนในการสร้างความไม่ลงรอยระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

บรรดาเจ้าหน้าที่การทูตกล่าวว่า ท่าทีของรัสเซียในระยะแรกเหมือนจะทำให้จีนระวังตัวขึ้น โดย ปธน. ปูตินไม่ได้เตือน ปธน. สีถึงแผนการรุกรานยูเครน เมื่อครั้งที่ผู้นำรัสเซียเยือนกรุงปักกิ่งขณะที่จีนเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อปีที่แล้ว

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังทำให้จีนตกในที่นั่งกระอักกระอ่วน เนื่องจากการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพทางชายแดนของทุกประเทศเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของนโยบายต่างประเทศจีน

China-Russia on Ukraine war infographic
China-Russia on Ukraine war infographic

จีนได้ประโยชน์อะไรบ้าง?

นักวิเคราะห์มองว่า สงครามครั้งนี้ทำให้รัสเซียพึ่งพาจีนมากขึ้น ทำให้รัสเซียเป็นมิตรกับจีนในลักษณะถือแต้มรอง และทำให้จีนมีบทบาทนำมากขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับกลุ่มที่นำโดยสหรัฐฯ

บริษัทข้อมูลด้านการตลาด Refinitiv เผยว่า จีนได้นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียด้วยราคาที่ต่ำกว่าเกณฑ์ระดับโลก โดยราคาน้ำมันดิบที่จีนนำเข้าจากรัสเซียในแต่ละวันนั้นเพิ่มขึ้นราว 45% เมื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงหลังการรุกรานยูเครนใหม่ ๆ จนถึงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

จีนยังกังวลถึงการขยายกิจกรรมทางทหารของสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้ ซึ่งการที่จีนคัดค้านการขยายตัวขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ ไปยังดินแดน “หลังบ้าน” ในยุโรปของรัสเซีย จะเป็นการปูทางให้จีนแสดงท่าทีคัดค้านกิจกรรมของสหรัฐฯ ในประเทศเพื่อนบ้านของจีนเช่นกัน

China-Russia on Ukraine war infographic
China-Russia on Ukraine war infographic

“มิตรภาพแบบไร้ขีดจำกัด” ระหว่างจีน-รัสเซีย เป็นเรื่องจริงหรือไม่?

จีนพยายามเลี่ยงการสนับสนุนรัสเซียด้วยวิธีที่อาจทำให้ตนเผชิญมาตรการลงโทษ เช่น การมอบอาวุธให้รัสเซีย โดยจีนแสดงความไม่พอใจอย่างมากต่อท่าทีของแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เตือนไม่ให้จีนส่งอาวุธให้รัสเซีย

จีนยังต้องการไว้ท่าทีรักษาระยะห่างกับรัสเซีย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกเสียหายหนัก และใช้อิทธิพลของตนกับรัสเซียเพื่อเตือนไม่ให้ผู้นำรัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์

China-Russia on Ukraine war infographic
China-Russia on Ukraine war infographic

จุดยืนของจีนต่อสงครามเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่?

จีนแสดงบทบาทสาธารณะในเชิงรุกมากขึ้น หลังให้ความสำคัญกับการเจรจาเพื่อสันติภาพและเลือกที่จะไม่ลงมือกระทำการโดยตรงอยู่นานหลายเดือน

ทั้งนี้ คาดว่าผู้นำจีนจะกล่าว “แถลงการณ์สันติภาพ” ในวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปีที่รัสเซียรุกรานยูเครน และจีนจะออกเอกสารแสดงจุดยืนต่อเหตุความขัดแย้งในยูเครน

ยุน ซุน นักวิจัยของศูนย์ Stimson Center ในกรุงวอชิงตัน มองว่า จีนอาจเห็นโอกาสการเปิดโต๊ะเจรจามากขึ้นเนื่องจากรัสเซียไม่ประสบความสำเร็จในสนามรบ

ในสัปดาห์นี้ หวัง อี้ นักการทูตระดับสูงสุดของจีน ได้หารือกับ รมว. ต่างประเทศสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ของชาติตะวันตกอื่น ๆ ที่ยุโรป ก่อนที่จะเดินทางเยือนกรุงมอสโกของรัสเซีย ซึ่งเป็นการดำเนินทางการทูตแบบ “shuttle diplomacy” หรือการทูตเดินสาย ที่ยุน ซุน เห็นว่า สะท้อนถึงความคาดหวังของจีนต่อการเปิดโอกาสเจรจา

China-Russia on Ukraine war infographic
China-Russia on Ukraine war infographic

สงครามยูเครนกระทบทิศทางของจีนต่อไต้หวันหรือไม่?

จีนปฏิเสธมาโดยตลอดว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน และความตั้งใจ “รวมชาติ” ของจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันนั้น ไม่เกี่ยวข้องกัน เช่น ท่าทีของ ฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ที่เตือนให้ “บางประเทศ” หยุดปั่นกระแส “ยูเครนวันนี้ ไต้หวันวันหน้า” ซึ่งเป็นการพาดพิงถึงสหรัฐฯ อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากกล่าวว่า จีนกำลังจับตาดูท่าทีของรัสเซีย ทั้งการเพลี่ยงพล้ำทางการทหารในยูเครนและการตอบโต้ประเทศต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับกรณีไต้หวัน หากมีความจำเป็นที่จีนต้องใช้กำลังทางทหาร

ยุน ซุน กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นและค่าใช้จ่ายของสงครามครั้งนี้ทำให้จีนเห็นว่า การรุกรานไต้หวันอาจไม่ใช่เรื่องที่ฉลาดนัก แต่โอกาสที่จีนจะมีท่าทีเชิงรุกต่อไต้หวันหากไต้หวันประกาศเอกราชนั้นก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่อาจมีโอกาสน้อยลง

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG