การโต้อภิปราย หรือ ดีเบต รอบแรกระหว่างทรัมป์และไบเดน ออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์อเมริกานัดแรก ได้รับการจับตามองอย่างมาก
ประธานาธิบดีทรัมป์ ใช้กลยุทธ์โจมตีคู่ต่อสู้บนเวทีดีเบต ด้วยการขัดจังหวะการพูด ฝั่งไบเดนที่มีบุคลิกเยือกเย็นกว่า ก็ไม่ได้ปล่อยให้ถูกโจมตีอยู่ฝ่ายเดียว งานหนักตกอยู่กับคริส วอลเลส ผู้ดำเนินการโต้อภิปรายครั้งนี้ ที่ต้องคอยห้ามทัพและคุมการอภิปรายตลอด 90 นาที
การพูดคุยใน 6 ประเด็นสำคัญที่ชาวอเมริกันรอฟังทัศนะจากว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ เช่น เรื่องราวของทรัมป์และไบเดน การแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูง เศรษฐกิจ การรับมือโควิด-19 และความน่าเชื่อถือของกระบวนการเลือกตั้ง
ปรากฏว่าบนเวทีดีเบตนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ได้เปรียบด้านเศรษฐกิจ ส่วนไบเดนโดดเด่นที่ประเด็นการรับมือกับโควิด-19 มาโดยตลอด ทั้งคู่กลับไม่มีโอกาสทำคะแนนได้เต็มที่ เพราะเวลา 90 นาทีที่ได้หมดไปกับการโต้เถียงและขัดจังหวะของแต่ละฝั่ง จนการแสดงจุดยืนประเด็นสำคัญเหล่านี้ขาดความต่อเนื่อง และจุดเเข็งของเเต่ละฝ่ายขาดโอกาสที่จะทำให้โดดเด่นเท่าที่ควร
ฝั่งทรัมป์ ตำหนิผลงานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดก่อน ที่ไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี ส่วนไบเดน ได้ย้ำยืนยันถึงการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่แสดงความจริงใจและพูดความจริงกับประชาชนในประเด็นโควิด-19 ตั้งแต่ต้น หลังการเปิดเผยในหนังสือ Rage โดยนักข่าว Bob Woodward
พิธีกรดีเบต คริส วอลเลส ได้จังหวะถามแทนประชาชน ในประเด็นการเสียภาษีของทรัมป์ ที่หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทม์ส นำเสนอเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทรัมป์ยืนยันว่าตนเสียภาษีหลายล้านดอลลาร์ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก และยังบอกว่าที่นักธุรกิจอเมริกันจ่ายภาษีน้อย เพราะนโยบายภาษีที่สนับสนุนคนรายได้สูงที่ไบเดนสนับสนุนในอดีต
ในตอนท้ายของการดีเบต ทรัมป์และไบเดน มีทัศนะที่แตกต่างเรื่องความน่าเชื่อถือของกระบวนการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ฝั่งประธานาธิบดีทรัมป์ ยังคงคลางแคลงใจถึงการลงคะแนนผ่านระบบไปรษณีย์ และย้ำว่ากระบวนการนี้อาจนำไปสู่การโกงการเลือกตั้งครั้งใหญ่อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้ ขณะที่ไบเดนย้ำว่าควรเคารพผลการเลือกตั้งไม่ว่าผลจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม
ระหว่างที่ต้องตามต่อกันว่า ทรัมป์และไบเดนจะแก้เกมดีเบตในอีก 2 นัดที่เหลือได้อย่างไร? อย่างไรก็ตาม การดีเบตนัดแรกของทรัมป์และไบเดน อาจไม่สามารถเปลี่ยนใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกันนับล้านไปได้ เพราะจากผลการสำรวจล่าสุดของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลและสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี พบว่า ชาวอเมริกันกว่า 70% บอกว่า การดีเบตไม่ได้มีผลมากนักต่อการกาบัตรลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้
ดร.ไพรวัลย์ นาหนองขาม อาจารย์ด้านดนตรีไทยใน Kent State University รัฐโอไฮโอ มองว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มาตรการวีซ่ากับชาวต่างชาติได้รับผลกระทบหนักมาก แต่ในแง่เศรษฐกิจยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ไปในทิศทางที่ดีจากแง่ของตลาดหุ้น
แต่เมื่อถึงการตัดสินใจเลือกผู้นำในปีนี้ มองว่า ไบเดน จะเป็นตัวแทนของคนที่หลากหลายเชื้อชาติมากกว่า ขณะที่ทรัมป์ กลับเป็นตัวแทนของกลุ่มคนขาวในอเมริกาเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม หากเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ครั้งนี้ทรัมป์จะกลับมาอีกครั้ง ก็มองว่าควรจะให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ ตามหลักประชาธิปไตย มากกว่าออกมาสร้างความขัดแย้งไม่รับผลเลือกตั้ง
"ถ้าถามผมก็อยากให้ไบเดนเขาได้ เพราะว่าผมอยู่ฝั่งนี้ เดโมแครตเนี่ยเขาเปิดกว้างให้กับคน ซึ่งคนต่างชาติได้ประโยชน์มากกว่า แต่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ในความรู้สึกของผมเอง เหมือนเขาเป็นตัวแทนของคนขาวมากกว่าคนอื่น ..."
"...เอาเป็นว่าใครจะได้ ก็ให้เป็นไปตามนั้นแล้วกัน ถึงผมไม่ชอบโดนัลด์ ทรัมป์ ถ้าเขาได้ผมก็โอเค เราก็ไปต่อ เราจะไม่พยายามที่จะไปขัดขวาง เพราะคนส่วนใหญ่เลือกเขาไปแล้วก็ให้เขาเป็นไป เราก็ถือว่าเออรอบนี้ไม่ใช่รอบของเรา เราก็รอรอบต่อไป อะไรอย่างนี้ผมว่าน่าจะดี ซึ่งมันน่าจะเป็นประชาธิปไตยที่น่าจะเป็นอย่างนั้น"
ขณะที่คุณปณิธิ โตสุขศรี พนักงาน NGO ในคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ มองว่า นอกจากเขาจะมีตัวเลือกในใจอยู่แล้ว เขายังรีบลงคะแนนเพื่อให้แน่ใจว่าเสียงของเขาไปถึง รวมทั้งเป็นอาสาสมัครเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้เป็นครั้งแรกด้วย คุณปณิธิได้ฝากถึงรัฐบาลอเมริกาชุดหน้าไว้ว่า ...
"รัฐบาลชุดหน้าก็อยากให้เขา (ประธานาธิบดีคนใหม่) นำเราไปในทางเดียวกัน และอยากให้เขาช่วยทุกคน ไม่ใช่แค่คนที่เลือกเขา ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าเกิดไบเดนโดนเลือกมาเราก็อยากให้เขา (ไบเดน) รับรู้ว่าคนที่เลือกทรัมป์เขาต้องการอะไร เราต้องทำงานด้วยกัน เราไปด้วยกัน เพราะเราเป็นชาติเดียวกัน ..."
"...อยากให้เรื่องเศรษฐกิจ อยากให้เศรษฐกิจดีกว่าสำหรับคนธรรมดา ไม่ใช่แค่สำหรับคนที่มีหุ้น ไม่ใช่แค่คนรวยอย่างเดียว อยากให้คนธรรมดาอยู่รอดได้ กับประกันสุขภาพเราต้องแก้ไข หรือการสร้างงาน และทุกๆอย่าง"
สำหรับการดีเบตผู้ท้าชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกสองนัด จะมีขึ้นในวันที่ 15 และ 22 ตุลาคมนี้ ส่วนสัปดาห์หน้าต้องรอติดตามดีเบตระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เป็นการพบกันของไมค์ เพนซ์ และคามาลา แฮร์ริส
(นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ วีโอเอภาคภาษาไทย รายงานจากเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ)