ก่อนการโต้อภิปรายครั้งแรกในจำนวนสามครั้งระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในคืนวันอังคารตามเวลาในสหรัฐฯ หรือเช้าวันพุธตามเวลาในประเทศไทย อดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของพรรคเดโมแครตมีคะแนนนิยมในระดับประเทศนำหน้าประธานาธิบดีทรัมป์อยู่ราว 7 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม คะแนนนิยมของทั้งคู่ในรัฐสำคัญๆ บางรัฐซึ่งต้องมีการช่วงชิงชัยชนะยังคงคู่คี่กันอยู่ ซึ่งก็ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์อาจจะแพ้คะแนน Popular Vote หรือคะแนนทั้งหมดที่ประชาชนมอบให้แต่ได้เป็นประธานาธิบดีเนื่องจากได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐหรือ Electoral Votes รวมกัน กว่า 270 คะแนนดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2016
มีการคาดการณ์ว่า คนอเมริกันราว 100 ล้านคนจะติดตามชมการโต้อภิปรายแบบตัวต่อตัวในคืนวันอังคาร ซึ่งจะมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศและจะใช้เวลา 90 นาที โดยผู้สมัครทั้งสองจะยืนอยู่คนละมุมและไม่สัมผัสมือกัน และนอกจากคำถามต่างๆ ใน 6 หัวข้อ เช่น ผลงานของผู้สมัครทั้งสอง ปัญหาโควิด-19 การเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงคนใหม่ของสหรัฐฯ ความถูกต้องสมบูรณ์ของระบบการลงคะแนนเลือกตั้ง รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนต่างผิวในสหรัฐฯ
นอกจากนั้น หลายฝ่ายเชื่อว่า จะมีการซักถามประเด็นจากรายงานของ นสพ.นิวยอร์ก ไทม์ส เมื่อวันอาทิตย์เกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลของประธานาธิบดีทรัมป์ให้กับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เพียง 750 ดอลลาร์ในปี ค.ศ. 2016 และในปีถัดมา
และในช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการโต้อภิปรายครั้งนี้ อดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดนกับภริยาได้เปิดเผยตัวเลขการเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลของปีล่าสุดคือปี ค.ศ. 2019 ซึ่งแสดงว่าทั้งคู่จ่ายภาษีให้กับรัฐบาลกลางสหรัฐฯเกือบ 300,000 ดอลลาร์ ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์นั้นยังไม่เคยเปิดเผยตัวเลขเรื่องการเสียภาษีของตนโดยให้เหตุผลว่ากำลังถูกตรวจสอบโดยหน่วยงาน IRS หรือกรมสรรพากรสหรัฐฯ อยู่
ขณะที่การโต้อภิปรายในช่วงที่ผ่านมามักมีบทบาทสำคัญช่วยกำหนดผลการเลือกตั้งได้นั้น อิทธิพลของการโต้อภิปรายในปีนี้ยังไม่ชัดเจนเพราะผลการสำรวจความเห็นแสดงว่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกันระบุว่าตนได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใครแล้วและจะไม่เปลี่ยนใจ นอกจากนั้นยังมีผู้คนอีกหลายล้านคนในหลายรัฐของสหรัฐฯ ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าแล้วหรือตั้งใจจะไปใช้สิทธิ์ล่วงหน้าด้วย