ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปธ.เฟด จับสัญญาณคุมเงินเฟ้อ ก่อนปรับลดดอกเบี้ย


แฟ้มภาพ: ประธานระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด กล่าวแถลงนโยบายการเงิน ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อ 20 ก.ย. 2023 (รอยเตอร์)
แฟ้มภาพ: ประธานระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด กล่าวแถลงนโยบายการเงิน ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อ 20 ก.ย. 2023 (รอยเตอร์)

ประธานระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ย้ำในวันพุธว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ แต่ต้องการจะเห็นตัวบ่งชี้มากขึ้นกว่านี้ว่าทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับลดลงอย่างยั่งยืนในกรอบเป้าหมายที่ 2% ของเฟดเสียก่อน

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ข้อมูลด้านนโยบายการเงินของเฟดต่อสภาคองเกรสในวันพุธ ระบุว่า ภาวะเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอตัวลงทั้งสินค้าและบริการ และไม่ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อมูลด้านเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนมกราคมที่ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยแต่อย่างใด

ประธานเฟด ยังกล่าวว่า เฟดกำลังเผชิญกับความเสี่ยง 2 อย่าง คือ การปรับลดดอกเบี้ยเร็วเกินไป ซึ่งอาจทำให้ความก้าวหน้าในการสกัดเงินเฟ้อเลวร้ายลง หรือเลือกที่จะปรับลดดอกเบี้ย “ช้าเกินไปหรือน้อยเกินไป” ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอและกระทบต่อการจ้างงานในสหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้ ตลาดเงินตลาดทุนต่างจับตาการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายนัดแรกของเฟด ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 23 ปี ที่ 5.4% และคาดการณ์ว่าการหั่นดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ ขณะที่ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน คาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยทั้งหมด 3 ครั้งในปีนี้

ในการแถลงของพาวเวลล์ในวันพุธ เขาไม่ได้ส่งสัญญาณใด ๆ ถึงกรอบเวลาของการปรับลดดอกเบี้ย แต่ได้ย้ำกว่าผู้กำหนดนโยบายการเงินของเฟดต่างเชื่อว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้จบสิ้นลงแล้ว และเป็นระดับที่เพียงพอในการควบคุมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศ ขณะที่นักลงทุนคาดว่า โอกาสที่เฟดจะหั่นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนนี้อยู่ที่ 69% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ที่ 64% เมื่อสัปดาห์ก่อน

ทั้งนี้ ระดับเงินเฟ้อโดยรวมของสหรัฐฯ อยู่ในทิศทางไม่ร้อนแรง แต่ปรับตัวสูงกว่าคาดในเดือนมกราคมที่ 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดความร้อนแรงจากระดับ 7.1% ในปี 2022

ขณะที่ คณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ พยายามปราบปราบการปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการอย่างไม่เป็นธรรมโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ รวมทั้งโจมตีปรากฏการณ์ shrinkflation ที่บริษัทต่างลดปริมาณสินค้าแทนการปรับขึ้นราคา และจำกัดค่าธรรมเนียมแอบแฝง หรือ junk fees ที่ผลักต้นทุนราคาสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยไม่จำเป็น

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG