เมื่อวันที่ 2 มีนาคม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อนุมัติสัญญาขายอาวุธให้แก่ไต้หวันมูลค่า 619 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกับที่ทางการไต้หวันรายงานว่า ฝูงเครื่องบินของจีนได้ล่วงล้ำเข้าไปในเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันตนเองทางอากาศของไต้หวันเป็นวันที่สองติดต่อกัน
รัฐบาลกรุงปักกิ่งได้ออกมา "ต่อต้านอย่างหนักแน่น" ต่อข้อตกลงซื้อขายอาวุธดังกล่าว และขอให้สหรัฐฯ ยุติการขายอาวุธและระงับการติดต่อทางทหารกับกองทัพไต้หวันด้วย
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เหมา หนิง กล่าวเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ว่า “การที่สหรัฐฯ ขายอาวุธให้ไต้หวัน คือการละเมิดหลักการจีนเดียวและบทบัญญัติของแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯ 3 ฉบับ อย่างรุนแรง โดยเฉพาะแถลงการณ์ร่วม 17 สิงหาคม”
คำกล่าวนั้นอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้
ประการแรก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า 'หลักการจีนเดียว' ของรัฐบาลปักกิ่ง กับ 'นโยบายจีนเดียว' ของรัฐบาลสหรัฐฯ นั้นแตกต่างกัน
กล่าวคือ หลักการจีนเดียวของจีนระบุไว้ว่า รัฐบาลกรุงปักกิ่งคือ "รัฐบาลเดียวที่มีอำนาจตามกฎหมายในการเป็นตัวแทนของดินแดนในการปกครองของจีนทั้งหมด" และ "ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีน"
แต่ นโยบายจีนเดียวของสหรัฐฯ ยอมรับว่ารัฐบาลปักกิ่ง คือ "รัฐบาลเดียวของจีนที่มีอำนาจตามกฎหมาย" แต่สหรัฐฯ มิได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับสถานะของไต้หวัน
ริชาร์ด บุช อดีตหัวหน้าของสถาบันอเมริกันในไต้หวัน หรือ AIT (American Institute in Taiwan) ซึ่งมีสถานะเทียบเท่ากับสถานทูตของสหรัฐฯ ในไต้หวัน ระบุไว้ว่า ในความเป็นจริง นโยบายจีนเดียวของสหรัฐฯ "ถูกกลั่นกรองมาจากเอกสารสำคัญหลายฉบับ เช่น บทบัญญัติของแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯ 3 ฉบับ, กฎหมาย Taiwan Relations Act (TRA), และคำแถลงด้านนโยบายอีกหลายฉบับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น 6 คำรับประกัน
แถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯ 3 ฉบับ
สหรัฐ และจีน ร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมเซี่ยงไฮ้ปีค.ศ. 1972 และแถลงการณ์ร่วมเพื่อกลับสู่ภาวะปกติปีค.ศ. 1979 ซึ่งนำไปสู่การสานสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ร่วมทั้งสองฉบับนั้นมิได้แตะเรื่องการซื้อขายอาวุธระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน และในขณะที่สหรัฐฯ ดูเหมือน "ยอมรับ" อย่างไม่เป็นทางการต่อจุดยืนของปักกิ่งที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ทางจีนกลับประณามสหรัฐฯ ว่าละเมิดอธิปไตยของจีนด้วยการขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน
จนกระทั่งทั้งสองประเทศร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมฉบับที่ 3 คือ แถลงการณ์ร่วม 17 สิงหาคม ปี 1982 เพื่อหาทางแก้ไขประเด็นเรื่องการซื้อขายอาวุธดังกล่าว ซึ่งในแถลงการณ์ฉบับนี้ สหรัฐฯ ระบุไว้ว่า "เข้าใจและยินดียิ่งต่อนโยบายของจีนในการหาแนวทางจัดการประเด็นไต้หวันอย่างสันติ" และสหรัฐฯ "ไม่ประสงค์ก้าวล่วงอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของจีน หรือแทรกแซงกิจการภายในของจีน หรือพยายามผลักดันนโยบาย 'สองจีน' หรือ 'หนึ่งจีน หนึ่งไต้หวัน' แต่อย่างใด
แถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ระบุด้วยว่า:
“[สหรัฐฯ ] มิได้ต้องการใช้นโยบายขายอาวุธให้แก่ไต้หวันในระยะยาว และการขายอาวุธให้แก่ไต้หวันจะไม่เกินไปกว่าระดับที่เคยเป็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การจัดทำความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ และมีแนวโน้มลดการขายอาวุธให้แก่ไต้หวันลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนถึงมติสุดท้าย"
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ มิได้ระบุว่า "มติสุดท้าย" คืออะไร เพียงแต่บอกว่า "เป็นการยอมรับจุดยืนที่แน่วแน่ของจีนในการจัดการประเด็นนี้"
กฎหมาย Taiwan Relations Act (TRA)
เมื่อปี 1979 ไม่นานหลังจากกรุงวอชิงตันตัดสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แล้วหันไปยอมรับรัฐบาลกรุงปักกิ่งแทนนั้น รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมาย Taiwan Relations Act ซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า สหรัฐฯ จะพิจารณาทุกแนวทางที่มีอยู่สำหรับผู้ที่ตัดสินอนาคตของไต้หวันด้วยวิธีต่าง ๆ นอกเหนือจากแนวทางที่สันติ ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตร ตลอดจนการคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของบริเวณแปซิฟิกตะวันตก
กฎหมายนี้บอกด้วยว่า "สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือไต้หวันด้านการป้องกันประเทศเท่าที่จำเป็นสำหรับไต้หวันในการรักษาศักยภาพของการป้องกันตนเอง"
6 คำรับประกัน
นอกจากนั้น ก่อนการลงนามแถลงการณ์ร่วมฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1982 รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้มอบ 6 คำรับประกันให้แก่รัฐบาลไต้หวัน ซึ่งรวมถึงคำรับประกันว่า สหรัฐฯ "จะไม่กำหนดวันเวลาที่แน่นอนสำหรับการยกเลิกการขายอาวุธให้ไต้หวัน" และ "จะไม่ปรึกษากับรัฐบาลจีนล่วงหน้าก่อนที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับการขายอาวุธให้ไต้หวัน"
อดีตประธานาธิบดีเรแกน ยังได้เขียนในบันทึกความเข้าใจของประธานาธิบดีเป็นการภายในว่า "ความประสงค์ของสหรัฐฯ ในการลดการขายอาวุธให้ไต้หวันนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่า จีนต้องรักษาพันธะผูกพันในการจัดการความขัดแย้งกับไต้หวันอย่างสันติวิธี" และยังเสริมด้วยว่า "ถือเป็นสิ่งสำคัญที่การจัดหาอาวุธให้แก่ไต้หวันทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ ขึ้นอยู่กับภัยคุกคามที่จีนแผ่นดินใหญ่มีต่อไต้หวัน"
แต่ในหลายสิบปีมานี้ จีนได้เพิ่มความก้าวร้าวทางทหารและข่มขู่ไต้หวันมาโดยตลอด
สถาบันคลังสมอง Asia Society ในนครนิวยอร์ก ระบุว่า จีนได้สั่งสมแสนยานุภาพทางการทหารเพื่อเพิ่มการข่มขู่คุกคามไต้หวันและกองทัพสหรัฐฯ ที่อาจยื่นมือเข้าช่วยไต้หวันในการป้องกันตนเอง
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เปิดการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 20 ด้วยคำปราศรัยที่ระบุว่า "จีนจะไม่สัญญาว่าจะไม่ใช้กำลังทหารและจะรักษาทางเลือกในการใช้ทุกวิธีที่จำเป็น" แต่จะทำทุกอย่างเพื่อ "การรวมประเทศอย่างสันติด้วยความจริงใจและความพยายามอย่างที่สุด"
- ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ