บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐฯ ทั้ง เฟสบุ๊ค (Facebook) และ กูเกิล (Google) ประกาศความพร้อมลงทุนวางสายเคเบิลใต้น้ำเพื่อเชื่อมต่อทวีปอเมริกาเหนือกับเอเชีย หลังจากเคยล้มเลิกแผนงานก่อนหน้าไป เนื่องจากแรงกดดันจากรัฐบาลกรุงวอชิงตัน
เควิน ซัลวาดอริ รองประธานบริษัท เฟสบุ๊ค ด้านการลงทุนโครงข่าย บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า โครงการนี้จะประกอบด้วยสายเคเบิล 2 เส้น ที่มีชื่อว่า “เอ็คโค่” (Echo) และ “ไบฟรอสต์” (Bifrost) ซึ่งจะถูกเดินผ่านเส้นทางใหม่ ที่วิ่งข้ามทะเลชวา เพื่อเชื่อมต่อกับอินโดนีเซียและสิงคโปร์ โดยเส้นทางนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถของการเชื่อมต่อที่ใต้พื้นสมุทรภาคพื้นแปซิฟิกได้อีกราว 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนของแผนงานนี้
ซัลวาดอริ กล่าวว่า โครงการเคเบิลเส้น “เอ็คโค่” ซึ่งเป็นส่วนที่ร่วมลงทุนกับ กูเกิล และบริษัทโทรคมนาคม XL ของอินโดนีเซีย จะสำเร็จเสร็จสิ้นภายในปี ค.ศ. 2023 ขณะที่ โครงการเคเบิลเส้น “ไบฟรอสต์” ที่เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท และกูเกิล รวมทั้งบริษัท เทลิน (Telin) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เทลคอม (Telkom) ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมแบบใช้สายรายใหญ่ที่สุดของประเทศ รวมทั้งบริษัท เคปเปิล (Keppel Corporation) ของสิงคโปร์ น่าจะดำเนินการวางเคเบิลสำเร็จภายในปี ค.ศ. 2024
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโครงการดังกล่าวยังรอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะดำเนินการได้
รอยเตอร์ส รายงานว่า ปัจจุบัน ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยมีประชาชนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้
ก่อนหน้านี้ เฟสบุ๊ค จำใจประกาศยกเลิกการวางสายเคเบิลเชื่อมต่อกับฮ่องกง เนื่องจากถูกรัฐบาลสหรัฐฯ กดดันด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศจากการสร้างการเชื่อมต่อระบบสื่อสารโดยตรงกับเกาะแห่งนี้ที่เป็นดินแดงกึ่งปกครองตนเองของจีน
ทั้งนี้ เฟสบุ๊ค และ กูเกิล ต่างดำเนินโครงการเชื่อมต่อด้วยสายเคเบิลกับหลายพื้นที่มาแล้ว โดย เฟสบุ๊ค เพิ่งประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้วว่าจะทำการวางสายเคเบิลใต้น้ำยาว 37,000 กิโลเมตร รอบๆ แอฟริกา ขณะที่ กูเกิล วางแผนโครงการสายเคเบิลใต้น้ำที่ชื่อ “เอเควียนโน” (Equiano) เพื่อเชื่อมต่อแอฟริกากับยุโรปอยู่