นักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders – RSF) ยื่นเรื่องฟ้อง เฟสบุ๊ค ต่อศาลในฝรั่งเศส ข้อหาทำการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ขณะที่ มีรายงานจากกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้ข้อมูลดังกล่าว ระบุว่า กลุ่มหัวรุนแรงหลายกลุ่มใช้แพลตฟอร์มนี้ ในการยุยงให้มีการใช้ความรุนแรงต่อต้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์จลาจลเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา
นักข่าวไร้พรมแดน ระบุในคำฟ้องที่ยื่นให้กับอัยการกรุงปารีสว่า “เฟสบุ๊ค มีส่วนร่วมใน ‘การทำการเชิงพาณิชย์ที่มีความหลอกลวง’ จากการที่บริษัทสื่อสังคมออนไลน์แห่งนี้เคยสัญญาที่จะสร้างสภาพแวดล้อมการใช้งานแบบออนไลน์ ที่ ‘ปลอดภัย’ และ ‘ปราศจากซึ่งข้อผิดพลาด’ ซึ่งกลับขัดแย้งกับการที่มีทั้ง ประทุษวาจาและข้อมูลเท็จ อย่างมากมายในเครือข่ายของตน”
ทางกลุ่มยังกล่าวหา เฟสบุ๊ค ว่า ทำการอนุญาตให้มีการเผยแพร่ ‘ประทุษวาจา’ ต่อสื่อ รวมทั้งข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับภาวการณ์ระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส โดยยอมให้มีการโพสต์ข้อความที่โจมตีและขู่นิตยสาร ชาร์ลี เฮบโด (Charlie Hebdo) และ รายการโทรทัศน์ โคทีเดียน (Quotidien) รวมทั้งหนังสือพิมพ์ ลูเนียน (L’Union) ของฝรั่งเศสด้วย
อย่างไรก็ดี สำนักข่าว บลูมเบิร์ก รายงานว่า เฟสบุ๊ค ออกแถลงการณ์ ที่ระบุว่า ทางบริษัทมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่ยอมรับการเผยแพร่เนื้อหาที่อาจก่ออันตรายใดๆ บนแพลตฟอร์มของตน รวมทั้งได้ทำการขยายทีมงานด้านระบบรักษาความปลอดภัยขึ้นเป็น 35,000 คนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และยังได้สร้างเทคโนโลยีปัญหาอัจฉริยะเพื่อช่วยค้นหาและถอดเนื้อหาประเภทดังกล่าวออกจากระบบด้วย
หาก RSF ชนะคดีนี้ เชื่อกันว่า ผลกระทบจากคำพิพากษาต่อแรงกดดันสำหรับเฟสบุ๊ค ให้หยุดการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ จากทั่วโลกจะรุนแรงขึ้นอย่างมาก
ขณะเดียวกัน กลุ่ม ‘อาวาซ’ (Avaaz) ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่มุ่งปกป้องระบอบประชาธิปไตยจากข้อมูลผิดๆ ทั้งหลาย เปิดเผยรายงานที่ระบุว่า พบหน้าเพจของกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ เช่น คิวอานอน (QAnon) บูกาลู (boogaloo) และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ถึง 267 เพจในเฟสบุ๊ค ซึ่งทำการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ส่งเสริมการใช้ความรุนแรงต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว ทั้งยังพบด้วยว่า มีผู้ติดตามเพจต่างๆ นี้รวมกันถึง 32 ล้านคนด้วย
รายงานชิ้นนี้ยังเปิดเผยด้วยว่า ขณะที่กลุ่มและเพจต่างๆ ทำการละเมิดนโยบายของเฟสบุ๊คอย่างชัดเจน ยังมีราว 119 เพจหรือกลุ่มที่ยังเปิดใช้งานเป็นปกติ และมีจำนวนผู้ติดตามถึงเกือบ 27 ล้านคน ณ วันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา
เฟสบุ๊ค ยอมรับว่า การบังคับใช้นโยบายของตนนั้น “ยังไม่สมบูรณ์แบบดีพอ” แต่กล่าวว่า รายงานชิ้นนี้บิดเบือความพยายามของบริษัทในการต่อสู้กับแนวคิดสุดโต่งที่ส่งเสริมความรุนแรงและข้อมูลผิดๆ ทั้งหลาย
รายงานข่าวระบุว่า ในวันพฤหัสบดีนี้ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอ ของเฟสบุ๊ค แจ็ค ดอร์ซีย์ ซีอีโอ ของทวิตเตอร์ และ ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอ ของ อัลฟาเบ็ต (Alphabet) เจ้าของเว็บกูเกิล มีกำหนดขึ้นให้ข้อมูลต่อสภาคองเกรส เกี่ยวกับ กรณีข้อมูลแนวคิดสุดโต่งและข้อมูลผิดๆ บนแพลตฟอร์มของตนแล้ว