ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: เหตุใดเมื่ออเมริกาส่งอาวุธให้ยูเครนอาจสะเทือนสัมพันธ์เกาหลีใต้-รัสเซีย?


FILE - South Korean army soldiers arrange 155mm howitzer shells during a military exercise in Goseong, South Korea, on April 4, 2016.
FILE - South Korean army soldiers arrange 155mm howitzer shells during a military exercise in Goseong, South Korea, on April 4, 2016.

เกาหลีใต้ซึ่งมีอุตสาหกรรมอาวุธขนาดใหญ่ระดับโลก กำลังเผชิญแรงกดดันในการหาทางจัดส่งอาวุธและกระสุนต่าง ๆ ให้แก่ยูเครน โดยไม่สร้างความขุ่นเคืองให้แก่รัสเซียซึ่งส่งสัญญาณว่าอาจกลับมาเพิ่มความร่วมมือทางทหารกับเกาหลีเหนืออีกครั้ง

วีโอเอสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนซึ่งให้ความเห็นว่า แนวทางหนึ่งซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพิจารณา คือการสนับสนุนให้บริษัทอาวุธต่าง ๆ ของเกาหลีใต้ขายสินค้าของตนให้กับสหรัฐฯ เพื่อให้สหรัฐฯ สามารถส่งอาวุธให้แก่ยูเครนได้โดยไม่กระทบต่อคลังสรรพาวุธของสหรัฐฯ เอง

ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ กล่าวกับวีโอเอว่า "รัฐบาลกรุงโซลได้จัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ประชาชนยูเครน แต่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนที่จะไม่ส่งอาวุธร้ายแรงไปยังยูเครน"

นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนเมื่อเกือบหนึ่งปีก่อน คลังสรรพาวุธของสหรัฐฯ ได้ลดลงไปมากเนื่องจากอาวุธจำนวนมากถูกส่งไปให้แก่ยูเครน

กลุ่มพันธมิตรทางทหารของยูเครนที่นำโดยสหรัฐฯ หรือ Ukraine Defense Contact Group ที่มีประเทศเข้าร่วมราว 50 ประเทศ ได้จัดส่งอาวุธหลายประเภทให้แก่ยูเครน ตั้งแต่ระบบยิงจรวดแบบเคลื่อนที่ High Mobility Artillery Rocket Systems (HIMARS) ไปจนถึงปืนใหญ่ฮาววิตเซอร์

และเมื่อวันพุธ สหรัฐฯ และเยอรมนี ประกาศว่าจะส่งรถถังเอบรัมส์ 31 คัน และรถถังเลพพาร์ด 2 จำนวน 14 คัน ให้แก่ยูเครน รวมทั้งรถถังที่อีกสมาชิกขององค์การนาโต้อีกหลายชาติรับปากว่าจะส่งให้เพิ่มเติม

สื่อนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า เวลานี้ยูเครนใช้กระสุนปืนใหญ่ราว 90,000 ลูกต่อเดือน โดยที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในยุโรปสามารถผลิตได้เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้

โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ พันโทมาร์ติน เมนเนอร์ส กล่าวกับวีโอเอภาคภาษาเกาหลีว่า "รัฐบาลวอชิงตันกำลังหารือเรื่องการซื้อกระสุนผ่านบริษัทอาวุธของเกาหลีใต้ที่ไม่ใช่รัฐบาล" และว่า "เกาหลีใต้มีอุตสาหกรรมอาวุธระดับโลกซึ่งมักขายให้กับชาติพันธมิตรและประเทศคู่ค้า รวมทั้งสหรัฐฯ "

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ยอดขายอาวุธของบริษัทเกาหลีใต้ให้กับสหรัฐฯ อาจช่วยยกระดับเกาหลีใต้ในฐานะ "ประเทศสำคัญบนเวทีโลก" ซึ่งเป็นนโยบายต่างประเทศหลักของประธานาธิบดี ยูน ซุก-ยอล ตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยตั้งเป้าให้เกาหลีใต้เป็น 1 ใน 4 ประเทศผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดในโลก

รายงานประจำปี 2022 ที่จัดทำโดย Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) ระบุว่า เกาหลีใต้คือผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับ 8 ของโลกระหว่างปี 2017 - 2021 โดยมีสหรัฐฯ นำมาอันดับหนึ่ง ตามด้วยรัสเซีย ฝรั่งเศส จีน และเยอรมนี ใน 5 อันดับแรก

เสียงเตือนจากปูติน!

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า หากเกาหลีใต้ยินยอมให้บริษัทเอกชนขายอาวุธจะช่วยเพิ่มความร่วมมือทางทหารกับมหาอำนาจทางตะวันตกได้ และยังเป็นการแสดงให้เพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีเหนือเห็นว่า การรุกรานประเทศอื่นอย่างที่รัสเซียทำกับยูเครนนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือการบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับรัสเซีย ซึ่งกระท่อนกระท่อนในช่วงหลัง ๆ เมื่อเกาหลีใต้สนับสนุนมาตรการลงโทษที่สหรัฐฯ นำมาใช้กับรัสเซีย

เทอเรนซ์ โรห์ริก ศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงและผู้เชี่ยวชาญเรื่องเกาหลี แห่ง U.S. Naval War College กล่าวว่า เกาหลีใต้จำเป็นต้องปกป้องสันติภาพ ความมั่นคงและอธิปไตยเหนือดินแดนของตนเองจากประเทศที่รุกราน และเกาหลีใต้ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกยืนข้างชาติตะวันตกและสนับสนุนความช่วยเหลือต่อยูเครนอย่างไร

"เราจะไม่เห็นเกาหลีใต้ส่งอาวุธให้แก่ยูเครนโดยตรง แต่จะใช้วิธีสนับสนุนประเทศอื่นทางอ้อมแทน เนื่องจากกังวลว่ารัสเซียอาจเพิ่มบทบาทมากขึ้นในเกาหลีเหนือผ่านการถ่ายโอนเทคโนโลยีและพัฒนาอาวุธ" ศาสตราจารย์โรห์ริกกล่าว

FILE - Russian President Vladimir Putin, right, and North Korea's leader Kim Jong Un shake hands during their meeting in Vladivostok, Russia, April 25, 2019.
FILE - Russian President Vladimir Putin, right, and North Korea's leader Kim Jong Un shake hands during their meeting in Vladivostok, Russia, April 25, 2019.

เมื่อเดือนตุลาคม ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน เตือนไปถึงเกาหลีใต้ว่า การส่งอาวุธและกระสุนไปให้กับยูเครนจะถือเป็นการทำลายความสัมพันธ์ของสองประเทศ พร้อมตั้งคำถามว่า "เกาหลีใต้จะทำอย่างไรหากรัสเซียกลับมาร่วมมือทางการทหารกับเกาหลีเหนือบ้าง?"

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนมีนาคม รัสเซียได้ใส่ชื่อเกาหลีใต้ไว้ในรายชื่อประเทศที่มี "ท่าทีไม่เป็นมิตร" กับรัสเซีย โดยสื่อ Tass รายงานว่า ประเทศที่มีชื่อในรายชื่อดังกล่าวได้กำหนดหรือร่วมใช้มาตรการลงโทษต่อรัสเซียที่บุกรุกยูเครน

แพทริก โครนิน ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียแปซิฟิกแห่ง Hudson Institute เชื่อว่า "รัฐบาลกรุงโซลต้องการรักษาความสัมพันธ์กับรัสเซียเอาไว้ ดังนั้นการส่งอาวุธของสหรัฐฯ จากฐานทัพในเกาหลีใต้กลับไปน่าจะเป็นหาทางที่ดีกว่าการขายอาวุธโดยตรงให้กับอเมริกา" "แต่ในอีกด้านหนึ่ง เกาหลีใต้เองก็ต้องการรับรองว่าความก้าวร้าวของรัสเซียในยูเครนจะไม่ลุกลามออกไป" เพราะนั่นอาจกลายเป็นตัวอย่างให้ประเทศเพื่อนบ้านของเกาหลีใต้เดินรอยตามได้เช่นกัน

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG