สหภาพยุโรปกำลังเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้นให้ผ่อนคลายกฏข้อบังคับเรื่องตารางเวลาการขึ้น-ลงของเครื่องบิน เพื่อลดจำนวน "เที่ยวบินตีเปล่า" ซึ่งบรรดาสายการบินใช้ในการรักษาตารางการบินขึ้น-ลงตามสนามบินต่าง ๆ
การระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนส่งผลให้การเดินทางทางอากาศต้องหยุดชะงักอีกครั้ง ประกอบกับการที่ประเทศต่าง ๆ เพิ่มกฏเกณฑ์ตรวจสอบผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ยิ่งทำให้จำนวนผู้โดยสารเครื่องบินระหว่างประเทศลดน้อยลง
ปัจจุบัน กฏข้อบังคับระบุให้บรรดาสายการบินต้องใช้ตารางเวลาขึ้น-ลงเครื่องบินของตนอย่างน้อย 50% ไม่เช่นนั้นต้องสูญเสียตารางเวลาดังกล่าว ทำให้สายการบินต่าง ๆ ต้องใช้วิธีให้บริการเที่ยวบินเปล่า หรือมีผู้โดยสารไม่เต็มจำนวน เพื่อรักษาตารางเวลานั้นไว้
ตัวอย่างเช่น สายการบินบรัสเซลส์แอร์ไลน์ส (Brussels Airlines) ของเบลเยียม เปิดเผยว่าต้องให้บริการเที่ยวบินแบบไม่เต็มความจุถึง 3,000 เที่ยวจนถึงเดือนมีนาคม ขณะที่บริษัทแม่คือ ลุฟต์ฮันซา (Lufthansa) เผยว่า ต้องให้บริการเที่ยวบิน "ไร้ความหมาย" 18,000 เที่ยวในช่วงฤดูหนาวปีนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเบลเยียม จอร์เจส กิลคิเนต์ มีคำร้องอย่างเป็นทางการไปถึงคณะกรรมการสหภาพยุโรปให้ผ่อนคลายกฏข้อบังคับเรื่องตารางเวลาขึ้น-ลงเครื่องบิน โดยระบุว่ากฏเกณฑ์ดังกล่าวขัดกับความพยายามของอียูในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากมลพิษที่เครื่องบินปล่อยออกมา
เดิมทีสหภาพยุโรปกำหนดให้สายการบินต่าง ๆ ต้องรักษาตารางขึ้น-ลงของเครื่องบินไว้ที่ระดับ 80% ในช่วงก่อนการระบาด ก่อนที่จะลดลงเหลือ 50% เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วเนื่องจากการหดตัวของธุรกิจการบิน และมีแผนจะเพิ่มเป็น 64% ในช่วงเดือนเมษายน - เดือนพฤศจิกายน ปีนี้
อย่างไรก็ตาม โฆษกของสมาคมการคมนาคมทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA กล่าวกับสำนักข่าว AFP ว่า ระดับ 50% ที่นำมาใช้ในช่วงฤดูหนาวปีนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้จริงภายใต้วิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมขอให้อียูเพิ่มความยืดหยุ่นในกฏเกณฑ์ดังกล่าว
แต่โฆษกของคณะกรรมการสหภาพยุโรปกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ทางอียูเชื่อว่าตัวเลข 50% ได้สะท้อนถึงจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาแล้ว เมื่อเทียบกับระดับ 80% ก่อนหน้าการระบาด พร้อมขอให้สายการบินต่าง ๆ ปฏิบัติตามข้อบังคับในเรื่องการรักษาตารางขึ้น-ลงเครื่องบินอย่างเคร่งครัดต่อไป