ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนภาคประชาสังคมในอเมริกา แสดงทัศนะที่แตกต่างต่อมาตรการล่าสุดของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี ที่ปรับลดระยะเวลากักตัวสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 แบบไม่แสดงอาการ จากเดิม 10 วัน เหลือเพียง 5 วัน
ซีดีซี ออกประกาศในวันจันทร์ (27 ธันวาคม) ปรับคำแนะนำให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบไม่แสดงอาการ กักตัวเพียง 5 วัน จากเดิม 10 วัน และหากยังตรวจพบเชื้อหลังช่วงเวลากักตัว ให้สวมหน้ากากต่อไปเป็นเวลา 5 วันหากต้องพบปะอยู่ใกล้ผู้อื่น
นอกจากนี้ ซีดีซี ยังแนะนำว่าด้วยว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มบูสเตอร์แล้ว ไม่จำเป็นต้องกักตัวหลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ แต่ควรใส่หน้ากากเป็นเวลา 10 วัน
แพทย์หญิงโรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า ไม่ใช่ว่าผู้ติดเชื้อทั้งหมดจะมีอาการรุนแรง และความเป็นจริง มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ไม่แสดงอาการ เราจึงต้องทำให้แน่ใจว่าจะมีเครื่องมือที่ช่วยให้สังคมดำเนินต่อไปได้โดยสอดรับกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่
ที่ผ่านมา ซีดีซี เจอกระแสกดดันจากประชาสังคมและภาคเอกชน ในการหาหนทางร่นเวลาการกักตัวผู้ติดเชื้อ และลดผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการบินในช่วงการระบาดของโควิด-19
ทางซีดีซี ย้ำว่า แนวทางที่ออกมาล่าสุดนั้น สอดรับกับหลักฐานการค้นพบที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ว่าผู้คนที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีระยะการแพร่เชื้อสูงที่สุดในช่วง 2-3 วันแรกที่ติดเชื้อ
ในประเด็นนี้ ตรงกับข้อมูลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA Internal Medicine เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และหลุยส์ แมนสกี ผู้อำนวยการสถาบันไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย University of Minnesota เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะสามารถแพร่เชื้อได้ในช่วง 1-2 วันก่อนแสดงอาการ
อย่างไรก็ตาม ผู้คัดค้านมาตรการร่นเวลากักตัวลงครึ่งหนึ่งของซีดีซี พุ่งเป้าไปที่ประเด็นการสิ้นสุดช่วงเวลากักตัวโดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ท่ามกลางความกังวลถึงการระบาดของโควิดที่พุ่งสูงในช่วงฤดูหนาว และการระบาดของโควิดกลายพันธุ์โอมิครอน
โดยนพ.เอริค โทโพล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย Scripps ที่มองว่า การใช้ชุดตรวจ rapid test หรือการตรวจเพื่อยืนยันว่าไม่พบเชื้อแล้วเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
ด้านคามารา เอ็ดเวิร์ดส เจ้าของธุรกิจร้านอาหารในฟิลาเดเฟีย สนับสนุนมาตรการใหม่ของซีดีซี จากที่พนักงาน 15% ต้องลาป่วยเพราะโควิด-19 จนเกิดปัญหาพนักงานขาดแคลน และว่ามาตรการนี้ดีต่อภาคธุรกิจ เพราะเปิดทางให้พนักงานกลับมาทำงานได้เร็วขึ้นกว่าเดิม แต่อาจต้องเจอเสียงต่อต้านจากพนักงานเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงานด้วยเช่นกัน
ด้าน Airlines for America ขานรับมาตรการใหม่ของซีดีซี โดยระบุว่าเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ ขณะที่สมาคมพนักงานต้อนรับผู้โดยสารบนเครื่องบิน กลับมองว่ามาตรการดังกล่าวสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยต่อการทำงาน และจะก่อให้เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่าการขาดแคลนพนักงานที่เป็นอยู่
ทั้งนี้ มาตรการร่นเวลากักตัวของผู้ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการของซีดีซี สอดคล้องกับมาตรการในหลายพื้นที่ทั่วโลกที่เริ่มปรับนโยบายดังกล่าว เช่น อังกฤษที่เพิ่งปรับลดเวลากักตัวสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีน ให้เหลือ 7 วัน แต่ต้องยืนยันผลตรวจเป็นลบถึง 2 ครั้งในระยะ 24 ชั่วโมงหลังจากกักตัวครบกำหนด
ส่วนที่ฝรั่งเศส เตรียมผ่อนคลายมาตรการกักตัว แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดที่ชัดเจนออกมา และที่อิตาลี เตรียมพิจารณาปรับมาตรการกักตัวทั้งผู้ติดเชื้อและผู้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนบูสเตอร์แล้ว
(ที่มา: เอพี)