รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนี คริสเตียน ลินด์เนอร์ ปฏิเสธมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียที่สหภาพยุโรปเตรียมนำมาใช้ ขณะที่ อียูถูกกดดันมากขึ้นให้ใช้มาตรการลงโทษภาคพลังงานของรัสเซีย ตามรายงานของรอยเตอร์
รัฐมนตรีลินด์เนอร์ กล่าวระหว่างการร่วมประชุมกับบรรดารัฐมนตรีของประเทศสมาชิกอียูที่กรุงบรัสเซลล์ในวันจันทร์ว่า เป็นที่ชัดเจนว่า สหภาพยุโรปต้องยุติความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซียให้เร็วที่สุด และต้องมีมาตรการลงโทษที่รุนแรงกว่าเดิม แต่เราก็ยังไม่สามารถหาแหล่งทดแทนก๊าซจากรัสเซียได้ในระยะสั้นเช่นกัน ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเราเองมากกว่ารัสเซีย
รัฐมนตรีการคลังเยอรมนีแนะนำว่า แทนที่จะใช้วิธีคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานทั้งหมดจากรัสเซีย อียูควรใช้วิธีลงโทษไปที่เชื้อเพลิงแต่ละประเภทแบบแยกส่วนกัน เนื่องจากแหล่งทดแทนน้ำมันนั้นสามารถหาได้ง่ายกว่าแหล่งทดแทนก๊าซธรรมชาติ
ทั้งนี้ รัสเซียคือผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติป้อนประเทศในยุโรปเป็นสัดส่วนราว 40% ของปริมาณที่ใช้ทั้งหมดในยุโรป และเยอรมนีคือหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากที่สุด
หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว รัฐบาลเยอรมันได้ประกาศใช้มาตรการลงโทษหลายอย่างต่อรัสเซียทันที โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้นำรัฐบาล นักการเมือง นักธุรกิจ และภาคธุรกิจที่สำคัญของรัสเซีย แต่กลับยังไม่ระงับการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินจากรัสเซีย ด้วยเกรงว่าจะสร้างความเสียหายต่อเยอรมนีเอง
โดยนักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่า เศรษฐกิจเยอรมันอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยหากคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย
ที่ผ่านมา สมาชิกของพรรคพันธมิตรฝ่ายรัฐบาลเยอรมนีต่างมีความเห็นขัดแย้งกันเรื่องการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย ขณะที่บรรดาผู้นำยุโรปกำลังเผชิญแรงกดดันให้ใช้มาตรการลงโทษเพิ่มเติมเพื่อตอบโต้ต่อหลักฐานที่ว่า รัสเซียใช้วิธีที่ทารุณโหดร้ายในการสังหารประชาชนยูเครนในหลายเมืองรอบกรุงเคียฟ
เมื่อวันอาทิตย์ รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี คริสทีน แลมเบรชต์ กล่าวว่า สหภาพยุโรปต้องหารือกันว่าจะคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียอย่างไร ขณะที่ รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี โรเบิร์ต ฮาเบ็ค แย้งว่า เยอรมนียังไม่ควรสั่งห้ามการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียในตอนนี้ แต่ควรลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียแบบค่อยเป็นค่อยไป
ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ ลิทัวเนียประกาศว่าได้ยกเลิกการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมเร่งเร้าให้ประเทศอื่นในสหภาพยุโรปทำแบบเดียวกัน
ทางด้านนายกรัฐมนตรีโปแลนด์ มาเตอัส โมราเวียซกี กล่าววิจารณ์ผู้นำเยอรมนีที่ไม่ยอมเพิ่มการลงโทษต่อรัสเซีย โดยระบุว่า "นายกฯ โอลาฟ โชลซ์ ไม่ควรฟังเสียงผู้นำธุรกิจในเยอรมนี แต่ควรฟังเสียงของสตรีและเด็กผู้บริสุทธิ์มากกว่า"
ผู้นำโปแลนด์กว่าด้วยว่า "เหตุการณ์นองเลือดจากการสังหารหมู่ในยูเครนด้วยน้ำมือของทหารรัสเซีย สมควรถูกเรียกว่า 'การสังหารล้างเผ่าพันธุ์' "
- ข้อมูลบางส่วนจากเอเอฟพี