สหภาพยุโรป (EU) เริ่มกระบวนการกดดันทางเศรษฐกิจต่อกัมพูชา 18 เดือน ซึ่งอาจนำไปสู่การยกเลิกมาตรการละเว้นภาษีสำหรับสินค้าจากกัมพูชาที่นำเข้าไปยังสหภาพยุโรป 28 ประเทศ
มาตรการที่อียูนำมาใช้กับกัมพูชาครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากประวัติด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของกัมพูชา โดยจะใช้เวลาในการกดดันให้รัฐบาลกัมพูชามีการเปลี่ยนแปลงในประเด็นดังกล่าว 18 เดือน จนถึงเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2020
ที่ผ่านมา กัมพูชาได้ประโยชน์จากมาตรการของอียูที่เรียกว่า "Everything but Arms" (EBA) ซึ่งอนุญาตให้ประเทศยากจนที่สุดในโลกบางประเทศ สามารถส่งสินค้าไปขายยังสหภาพยุโรปโดยที่ไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้า ยกเว้นสินค้าประเภทอาวุธ
แต่อียูได้มีคำเตือนไปยังรัฐบาลกัมพูชาเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วว่าอาจเสียสิทธิพิเศษนี้ หลังจากเกิดความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ฮุน เซ็น ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย และได้ดำรงตำแหน่งต่อไป
ปัจจุบัน อียูคือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดย 45% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา ส่งไปยังประเทศในกลุ่มอียู คิดเป็นมูลค่าเกือบ 5,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยเฉพาะสินค้าประเภทเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
บรรดาธุรกิจและสหภาพแรงงานในกัมพูชาต่างเรียกร้องให้อียูอย่ายกเลิกสิทธิพิเศษดังกล่าว เพราะจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อคนงานฐานะยากจนหลายล้านคนและครอบครัวของพวกเขา
ด้านคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ระบุว่า มาตรการนี้มีขึ้นเพื่อรับประกันว่า รัฐบาลกัมพูชาจะปรับปรุงมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนให้ดีขึ้นกว่าเดิม รวมถึงการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด