ลิ้งค์เชื่อมต่อ

องค์กรสิทธิมนุษยชนร้อง "เลือกตั้งกัมพูชา" ไม่โปร่งใส-ไร้ความน่าเชื่อถือ!


Cambodian Prime Minister Hun Sen prepares to cast his vote as his wife, Bun Rany, stands beside him at a polling station during a general election in Takhmao, Kandal province, Cambodia, July 29, 2018.
Cambodian Prime Minister Hun Sen prepares to cast his vote as his wife, Bun Rany, stands beside him at a polling station during a general election in Takhmao, Kandal province, Cambodia, July 29, 2018.
please wait

No media source currently available

0:00 0:03:45 0:00

ชาวกัมพูชาเดินเข้าคูหาเลือกตั้งในวันอาทิตย์ ในการเลือกตั้งทั่วประเทศซึ่งแทบจะทราบผลแน่นอนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่า พรรคของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซ็น จะเป็นผู้ชนะ หลังจากพรรคทางเลือกที่ดูเหมือนมีอยู่เพียงพรรคเดียวถูกสั่งห้ามลงเลือกตั้งไปก่อนหน้านี้

การที่รัฐบาลกัมพูชาสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศหลายแห่งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ทำให้มีการตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสของการเลือกตั้งในกัมพูชา ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

กฎหมายการเลือกตั้งของกัมพูชาระบุว่า ห้ามมีการรณรงค์หาเสียงใดๆ ในช่วง 48 ชม. คือในวันเลือกตั้งก่อนหน้าวันเลือกตั้งหนึ่งวัน ซึ่งนั่นถูกรัฐบาลกัมพูชาใช้เป็นเหตุผลในการบล็อกเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ 15 แห่ง เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้ง เว็บไซต์ Voice of America ภาคภาษาเขมร

แต่ในขณะเดียวกัน กลับอนุญาตให้เว็บไซต์สำนักข่าวที่สนับสนุนรัฐบาลกัมพูชาสามารถเสนอข่าวได้อย่างอิสระ

เรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับองค์กรสิทธิมนุษยชนและบรรดาผู้ติดตามการเลือกตั้งกัมพูชา ว่าอาจเป็นสัญญาณร้ายของกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศนี้

โฆษกคณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชา ดิม โสวันนารม กล่าวปกป้องมาตรการปิดกั้นเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมีสิทธิ์เต็มที่ภายใต้กฎหมายในการทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้อิสระและยุติธรรม แต่มิได้ระบุว่าทำไมจึงเลือกปิดแค่บางเว็บไซต์เท่านั้น

หลังจากพรรค Cambodian National Rescue Party (CNRP) ซึ่งถือเป็นคู่แข่งเพียงพรรคเดียวของพรรครัฐบาล Cambodian People’s Party ของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซ็น ถูกศาลกัมพูชาสั่งให้ยุบพรรคไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ความสนใจในการเลือกตั้งของกัมพูชาได้ปรับเปลี่ยนจากที่ว่า ใครจะเป็นผู้ชนะ? ไปเป็น จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์มากน้อยแค่ไหน?

ภายหลังปิดคูหาเลือกตั้งในวันอาทิตย์ เจ้าหน้าที่เลือกตั้งระบุว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์สูงถึง 82% แม้ว่ามีผู้ไปใช้สิทธิ์จำนวนมากที่บอกว่า ดูเหมือนจำนวนประชาชนที่ออกมาเลือกตั้งนั้นน้อยลงจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็ตาม

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่ารัฐบาลกัมพูชาได้นำเข้าผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างชาติ 539 คน มาจากหลายประเทศที่ส่วนใหญ่มิได้มีประชาธิปไตยเต็มใบ หลังจากที่สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ ตัดสินใจไม่ส่งผู้สังเกตการณ์มาติดตามการเลือกตั้งกัมพูชาครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง ระบุว่ามีบัตรเสียจำนวนมาก คือราว 20 – 35% ของทุกคูหาที่ตนไปสำรวจ

ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้นำพรรค Cambodian National Rescue Party ได้ออกมารณรงค์ให้ประชาชนคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมทั้งการทำบัตรเสียหรือไม่ลงออกเสียงลงคะแนน ภายใต้ชื่อโครงการ “Clean Finger”

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีรายงานเกี่ยวกับการข่มขู่คุกคามผู้ที่สนับสนุนโครงการดังกล่าว รวมถึงการขู่ว่าจะระงับบริการสาธารณะบางอย่างหากประชาชนไม่ออกไปใช้สิทธิ์ แม้ว่าการคว่ำบาตรการเลือกตั้งนั้นจะเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายในกัมพูชาก็ตาม

คุณสัมบาตร คานิกา หนึ่งในผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งชาวกัมพูชา กล่าวว่า ตอนที่อยู่ในคูหาเลือกตั้งนั้น ตนคิดว่าจะทำให้บัตรลงคะแนนกลายเป็นบัตรเสีย แต่ก็ฉุกคิดถึงกฎข้อบังคับที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชาได้ประกาศออกมาว่า สัญลักษณ์ใดๆ ที่ทำลงบัตรลงคะแนน จะถือเป็นการออกเสียงให้กับพรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซ็น

(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากห้องข่าววีโอเอ)

XS
SM
MD
LG