หน่วยงานตรวจสอบการทุจริตชี้กัมพูชานำเข้าทองคำจากสิงคโปร์สูงมากจนน่าสงสัย
หลังจากบรรดาหน่วยงานตรวจสอบการทุตริตออกมาแสดงความสงสัยในเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ทางการกัมพูชาได้ปฎิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้โดยบอกว่าทองคำนำเข้าที่ว่านี้เพียงเเค่ผ่านเข้ามาในกัมพูชาก่อนจะส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ
ข้อมูลตัวเลขที่มีอยู่ชี้ว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา กัมพูชานำเข้าทองคำจากสิงคโปร์สูงกว่าทุกชาติยกเว้นจีน เเละยังชี้ด้วยว่าทองคำทั้งหมด 407 ตันถูกส่งไปยังกัมพูชาระหว่างปี ค.ศ. 2012 – 2017
อัลเลฮานโดร กอนซาเลซ-เดวิดสัน (Alejandro Gonzalez-Davidson) ผู้ร่วมก่อตั้งหน่วยงาน Mother Nature Cambodia เป็นผู้เปิดเผยตัวเลขส่งออกที่เก็บรวบรวมโดยฐานข้อมูลของ Statlink ในสิงคโปร์ เมื่อไม่นานมานี้ เขาบอกกับวีโอเอว่าตัวเลขส่งออกเเละนำเข้าทองคำของกัมพูชาที่ไม่ตรงกัน ทำให้ต้องมีการสอบสวนหาคำตอบ
เขากล่าวว่า จากเอกสารที่เขาได้อ่านเเสดงว่ามีหลักฐานเพียงพอที่ชี้ว่าทองคำนำเข้าเหล่านี้ไม่ได้รับการบันทึก และเพียงพอที่เเสดงให้เห็นว่าอาจมีการกระทำผิดกฏหมายเกิดขึ้น
ในอดีต หากพบข้อมูลที่ไม่ตรงกันระหว่างการนำเข้าเเละส่งออก เช่น การลักลอบตัดไม้เเละการดูดทราย รัฐบาลกัมพูชามักโทษว่าเป็นความผิดพลาดจากการทำบัญชี และแม้ตัวเลขส่งออกเเละนำเข้าไม่ตรงกันเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา เเต่ไม่น่าจะมากเกินกว่างบประมาณของกัมพูชาหลายเท่าอย่างที่เห็น
โดยงบประมาณของรัฐบาลกัมพูชาประจำปี 2018 นี้ อยู่ที่ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้านสภาทองคำโลก (World Gold Council) รายงานว่า ทองคำสำรองของกัมพูชาไม่ได้เพิ่มขึ้นมานาน 18 ปีเเล้ว
เส่ง ไทย โฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวว่า สินค้าบางอย่างนำเข้ามายังกัมพูชาเพื่อจุดประสงค์ของการส่งออกล้วนๆ และอาจจะไม่ถูกบันทึกเป็นสินค้านำเข้า ดังนั้นการประเมินนี้จึงไม่ถูกต้อง
แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาคอร์รัปชั่น กล่าวว่าจุดหมายปลายทางของการส่งออก คือตัวปัญหา
จอร์จ เเมคลีออด ผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงทางการเมือง ในประเทศไทย ซึ่งศึกษาข้อมูลการค้าทองคำของกัมพูชา กล่าวว่า มีการค้าขายทองคำที่ฉวยประโยชน์จากการขาดกฎระเบียบควบคุมของกัมพูชาในการลักลอบทองคำ โดยนำเข้าจากสิงคโปร์แล้วส่งต่อไปยังเวียดนามที่มีการควบคุมเข้มงวด เเละทำกันมานานหลายสิบปีเเล้ว
เขากล่าวว่า สิงคโปร์เป็นตลาดค้าขายทองคำเสรี ใครๆ ก็สามารถซื้อทองคำในสิงคโปร์เเล้วส่งออกได้โดยไม่จำกัดปริมาณ
เเมคลีออด กล่าวว่า มีการส่งออกทองคำไปยังกัมพูชาโดยไม่เสียภาษีเลย นอกจากเสียธรรมเนียมค่าโอนเงินเท่านั้น ซึ่งบังคับโดยธนาคารแห่งชาติ
เมื่อทองคำนำเข้าไปยังกัมพูชา จะมีการลักลอบขนทองคำข้ามชายเเดนเข้าเวียดนามที่มีกฏระเบียบควบคุมการนำเข้าทองคำที่เข้มงวดเเละต้องเสียภาษี ทำให้การลักลอบขายทองคำจากกัมพูชาสร้างกำไรมาก
องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) หรือ TI จัดอันดับกัมพูชาว่าเป็นประเทศทุจริตมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เเละเป็นหนึ่งใน 20 ชาติที่ทุจริตที่สุดในโลก
เพรียบ โคอล ผู้อำนวยการบริหารแห่งองค์กร TI กัมพูชา กล่าวกับวีโอเอผ่านทางอีเมลล์ว่า หากพิจารณาจากขนาดของเศรษฐกิจกัมพูชา ตัวเลขทองคำนี้น่าจะสร้างความสงสัยเเก่เจ้าหน้าที่ในสิงคโปร์ กัมพูชา เเละในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกัมพูชาถือเป็นประเทศที่มีปัญหาการทุจริตสูง
นี่ไม่ใช่ครั้งเเรกที่หน่วยงาน Mother Nature Cambodia ได้ใช้ตัวเลขสถิติจากสิงคโปร์ในการตั้งคำถามเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเงินของรัฐบาลกัมพูชา
ทางหน่วยงานเปิดเผยในปี ค.ศ. 2016 ว่า สิงคโปร์ได้บันทึกการนำเข้าทรายมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากกัมพูชา ระหว่างปี ค.ศ. 2007 - 2015 ในขณะที่สำนักงานศุลกากรกัมพูชาได้บันทึกว่า ไม่มีการส่งออกทรายไปสิงคโปร์ในช่วงเวลาดังกล่าว
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)